ข้าวลืมผัว คืออะไร

ข้าวลืมผัว เป็นข้าวเหนียวดำพื้นเมือง ลักษณะต้นสีเขียว คอรวงสีเขียว ต้นเตี้ย ระยะน้ำนมมีเม็ดมีสีม่วงแดง สาแหรกสีเขียว มีกลิ่นหอมตั้งแต่แตกกอจนถึงออกรวง ที่จัดว่าอายุเบา ไวต่อช่วงแสง (ปลูกในฤดูนาปี)

ประวัติ

ข้าวลืมผัว ปลูกโดยกลุ่มชาติพันธุ์ม้งหรือพี่น้องม้ง ที่บ้านรวมไทยพัฒนาที่ 3 ตำบลรวมไทย พัฒนา อำเภอพบพระ จังหวัดตาก โดยจะปลูกในสภาพไร่พื้นที่สูง (สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ 650 เมตร) อยู่ในกลุ่มพันธุ์ข้าวเหนียวดำที่พี่น้องม้งเรียกรวมๆกันว่า "เบล้ฉัง" และปลูกเพื่อใช้ทำขนมพิเศษในโอกาสปีใหม่ โดยจะนำข้าวไปนึ่ง แล้วตำให้เหนียว ห่อด้วยใบตอง ย่างไฟจนหอม รับประทานกับน้ำอ้อย นมข้นหวาน หรือน้ำตาล เรียกว่า "จั๋ว" ในภาษาไทยจะเรียกว่า "พิซซ่าม้ง"

ในปี 2533 นายพนัส สุวรรณธาดา ตำแหน่งในขณะนั้น คือ เจ้าพนักงานการเกษตร 5 ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ได้นำมาคัดเลือกพันธุ์ให้บริสุทธิ์ครั้งแรก ระหว่าปี 2534-2538 และทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์ในปี 2539 เพื่อนำเมล็ดพันธุ์ที่ได้ไปให้พี่น้องม้งเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป แต่ด้วยวิธีการปลูกแบบชาวเขาที่มักปลูกข้าวหลายพันธุ์ใกล้กันหรือปลูกด้วยกัน ทำให้ข้าวเหนียวลืมผัวมีเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์อื่นปน และไม่เป็นพันธุ์บริสุทธิ์ เพื่อไม่ให้สูญพันธุ์ ในปี 2550 ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก และศูนย์วิจัยข้าวแพร่ จึงได้เริ่มทำการคัดเลือกพันธุ์บริสุทธิ์อีกครั้ง และในวันที่ 9 มีนาคม 2555 คณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ข้าว มีมติรับรองพันธุ์ข้าวเหนียวลืมผัว

ที่มาของชื่อ

ในระหว่างการคัดเลือกพันธุ์บริสุทธิ์ครั้งแรก พี่น้องม้งที่เป็นคนงานให้นักวิจัยได้เล่าถึงความอร่อยของพันธุ์ข้าวนี้ว่า "อร่อยมากจนภรรยารับประทานเองหมด จนลืมแบ่งไว้ให้สามี" นักวิจัย จึงพูดเล่นๆว่า "อย่างนี้ก็เป็นข้าวลืมผัวน่ะสิ" ไม่ได้หมายถึงรับประทานแล้วจะลืมผัวเหมือนที่เข้าใจกัน

การปลูก

  • ปลูกในช่วงที่เริ่มฝนของพื้นที่ ตามปกติในภาคเหนือมีสภาพที่เหมาะสมจะอยู่ ในช่วงกลาง-ปลายเดือนพฤษภาคม
  • พื้นที่ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ 400-800 เมตร ควรเป็นที่โล่ง และมีลมพัดผ่าน
  • อุณหภูมิเฉลี่ยระหว่างฤดูปลูก ไม่เกิน 25 ํซ
  • ดินร่วนซุย หรือดินร่วนเหนียว

หากปลูกในสภาพเช่นนี้จะได้เมล็ดที่อ้วน สีม่วงดำ คุณค่าทางโภชนาการสูง ให้ผลผลิตเฉลี่ย 343-455 กก./ไร่

มีผลผลิตต่ำ และอ่อนแอต่อโรค เช่น โรคไหม้ กิ่งบนใน ข้อต่อใบ และคอรวง โรคใบจุดสีน้ำตาล โรคใบขีดสีน้ำตาล โรคขอบใบแห้ง โรคเมล็ดด่าง โรคดอกกระถิน และแมลงศัตรูข้าวที่สำคัญ เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หนอนห่อใบข้าว หนอนกอ แมลงบั่ว ศัตรูพวกหนูตัวเล็กๆ และนก

ลักษณะเด่น

ข้าวลืมผัว มีลักษณะเด่น คือ เมื่อหุงสุก จะมีกลิ่นหอม ลักษณะสัมผัสเมื่อแรกเคี้ยวจะกรุบหนึบ ภายในนุ่มเหนียว และหอมกรุ่นในปาก

คุณค่าทางโภชนาการ

ข้าวลืมผัว มีสารอาหาร เช่น

  • กรดแอสดอร์บิก
  • กรดไขมันไม่อิ่มตัว ได้แก่ โอเมกา 3 ,โอเมกา 6, โอเมกา 9
  • วิตามินอี และบี
  • แกมมา-โอไรซานอล
  • แอนโทไซยานิน
  • ธาตุเหล็ก
  • แคลเซียม
  • สังกะสี
  • แมงกานีส

การพัฒนา

จากผลงานการวิจัยโดย ดร.อัจฉราพร ณ ลำปาง เนินพลับ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยพิษณุโลก สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว พบว่า ข้าวเหนียวดำลืมผัวมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำกว่าข้าวเหนียว ที่บริโภคทั่วไปมาก และมีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าข้าวเจ้าสีพันธุ์ทั่วไป ประกอบด้วยสารต้านอนุมูลอิสระรวมต่างๆ จึงมีแนวโน้มที่ดีในการนำสารสกัดจากข้าวเหนียวพันธุ์ลืมผ��วมาพัฒนาเป็นยาต้านโรคอัลไซเมอร์ได้ในอนาคต

อ้างอิง

  • กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์,2555,ข้าวลืมผัว...มรดกของแผ่นดิน,กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
  • กองวิจัยและพัฒนาข้าว (กวข.),2555,พันธุ์ข้าวรับรองปี 2555 (2 พันธุ์),[online],Available : http://www.brrd.in.th/main/index.php?option=com_content&view=article&id=669:brrd-255501&catid=70:certification&Itemid=65 [วันที่สืบค้น 24 พฤษภาคม 2558].
  • แนวหน้า,2558,ต่อยอด 'ข้าวเหนียวลืมผัว' พัฒนายาต้านโรคอัลไซเมอร์,[online],Available :http://www.naewna.com/local/144999[วันที่สืบค้น 24 พฤษภาคม 2558].

แหล่งที่มาดั้งเดิม: ${vars.title} แบ่งปันกับ ใบอนุญาต Creative Commons Attribution-ShareAlike 3.0

หมวดหมู่