ตัวละครในขุนช้างขุนแผน คืออะไร

บุคลิกและตำแหน่งหน้าที่ของตัวละคร

กรมการเมือง ดูแลความสงบเรียบร้อยและตัดสินคดีความในเขตราชธานีหรือเมืองหลวง และมีหน้าที่ปราบปรามโจรผู้ร้าย อีกทั้งยังว่าการบัญชีคนและคนโทษอีกด้วย

กรมวัง มีหน้าที่เกี่ยวกับราชสำนักและมีหน้าที่พิพากษาตัดสินคดีความ สำหรับหัวเมืองต่างๆ มีขุนวังเป็นผู้บังคับบัญชา ซึ่งขุนวังมีอำนาจตั้งยกกระบัตรไปประจำตามเมือง เมืองละคน โดยทำหน้าที่พิพากษาคดีต่างๆที่เกิดขึ้นในเมืองนั้นๆด้วย

กรมสัสดี “กรมพระสุรัสวดี” หรือ “กรมสุรัสวดี” จัดตั้งขึ้นรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (พระเชษฐา) พระโอรสสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. ๒๐๓๔ – ๒๐๗๒)

กรมพระสุรัสวดี มีหน้าที่จัดส่งเจ้าหน้าที่สัสดีไปประจำ ณ หัวเมืองต่างๆ เพื่อจ่ายเลข (สักตัวเลขที่ท้องแขนชายไทย) ขึ้นทะเบียนคนเป็น “ไพร่” ดังนั้น กรมสุรัสวดีจึงเป็นกรมใหญ่ ซึ่งมีฐานะคล้ายกระทรวง ควบคุมบัญชีไพร่พลทั่วประเทศ มีผู้บังคับบัญชากรมคือ “พระสุรัสวดี” ขึ้นตรงต่อพระมหา กษัตริย์ กำกับเจ้าขุนมูลนายทุกกรมกอง ทั้งฝ่ายกลาโหมและฝ่ายมหาดไทย ให้ต้องส่งบัญชียอดจำนวนไพร่ในสังกัด พร้อมเลขทะเบียนประจำตัวไพร่ให้กรมสุรัสวดี ควบคุมในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบเกณฑ์ไพร่พลเพื่อจัดกองทัพ เมื่อต้องการกำลังพลเข้าทำศึกสงคราม ต่อมารัชกาลที่ ๕ ได้ทรงปรับปรุงกิจการทหารเป็นแบบอย่างยุโรป ได้จัดตั้งกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทยขึ้น พร้อมยกกรมสุรัสวดี ไปขึ้นกับกระทรวงกลาโหม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ และต่อมา พ.ศ. ๒๔๔๑ ได้เปลี่ยนชื่อจาก “กรมสุรัสวดี” เป็น “กรมสัสดี”

กรมอาทมาต เป็นกรมที่คอยตระเวนชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่รอบพระราชอาณาจักร อาทิ พม่า ลาว เขมร ญวน เป็นต้น ซึ่งถือเป็นข้าศึก ฉะนั้น กรมอาทมาตจึงต้องส่งสายลับเข้าไปสอดแนมดูความเคลื่อนไหวในเมืองของข้าศึก แล้วรีบส่งข่าวกรองมายังกรมอาทมาตอีกที หรือหากจะกล่าวง่ายๆในปัจจุบันก็คือเป็นกรมที่หาข่าวกรองให้แก่รัฐบาล เรียกง่ายๆว่ากรมประมวลข่าวกลาง ในปัจจุบันนี้เรียกว่าสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ถ้าเป็นต่างประเทศ คือ CIA นั่นเอง

กรมอาสาหกเหล่า คำว่า “อาสา” แปลว่า “ทหารหน้า” กล่าวอย่างปัจจุบันก็คือกองทัพบกนั่นเอง มีหน้าที่รบพุ่งปราบปรามอริราชศัตรูทุกทิศ ในสมัยโบราณ กรมนี้มีหน้าที่วางด่านทาง ป้องกันข้าศึกศัตรูซึ่งแบ่งตามซ้ายแลขวา แต่เดิมในสมัยอยุธยา กรมนี้แบ่งออกเป็นกรมอาสาใหญ่ กรมอาสารอง กรมเขนทองขวา กรมเขนทองซ้าย กรมทวนทองขวา และ กรมทวนทองซ้าย

กวานมหาปาด เสนาบดีผู้ใหญ่ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่

กุมารทอง ในเสภาขุนช้างขุนแผนถือเป็นคำสูงคำหนึ่ง เป็นเครื่องรางของขลังอย่างหนึ่ง ซึ่งก็คือลูกกรอก เป็นซากเด็กที่ทำให้แห้งสนิท ไม่มีกลิ่นหรือมีอะไรที่เป็นปฏิกูล เวลาทำพิธีต้องบริกรรมคาถาบทนี้ตลอดเวลา คือ สิทธิเตโช สิทธิจิตตํ มหาภูโต มะสันทนํ

กึงกำกง ตำแหน่งของผู้บังคับบัญชาทหารในกองทหารฝ่ายล้านช้าง

ขนานอ้าย ข้าไทของนางสร้อยฟ้าที่ได้รับคำสั่งให้ไปลอบฆ่านางศรีมาลา

ขอมดำดิน ตามพงศาวดารเหนือบันทึกไว้ว่า ขอมดำดินนี้ เดิมชื่อนายร่วง บุตรของนายคงเครา ตักน้ำใส่ชะลอมบรรทุกเกวียนไปส่งส่วยสำหรับน้ำเสวยของกระเจ้าพันทุมสุริยวงศ์กรุงกัมพูชา พระเจ้ากัมพูชาเห็นเป็นอัศจรรย์ รู้ว่าผู้มีบุญมาเกิดจึงให้ยกทัพมาจับนายร่วง นายร่วงรู้ข่าวก็หนีไปบวชที่วัดเมืองสุโขทัย ขอมตามไปโดยดำดินไปผุดที่วัดที่พระร่วงบวชอยู่ พอขอมถามถึงนายร่วง พระร่วงบอกให้อยู่ตรงนี้และต่อมากลายเป็นหินนับจากนั้นเป็นต้นมา

ขุนไกรนายด่าน เป็นตำแหน่งของนายบุญ ที่เป็นนายด่านบ้านท่าเกวียน เมืองสวรรคโลก

ขุนไกรพลพ่าย เดิมชื่อ “พลายจันทน์” ลูก “พลายประจำยาม” สันนิษฐานว่าจะเป็นมอญหรือมีเชื้อสายมอญแห่งบ้านพลับ เพราะคำว่า “พลาย” ซึ่งเป็นภาษามอญแปลว่า “หนุ่ม” หรือ “ผู้ชายที่แข็งแรง” มีเมียชื่อ “นางทองประศรี” เป็นพ่อของ “พลายแก้ว” ต่อมาย้ายมารับราชการที่สุพรรณบุรี โดยเป็นข้าราชการสังกัดกรมอาสาหกเหล่าและกรมอาทมาต ขณะเดียวกันยังได้รับมอบหมายให้ดูแลอนุรักษ์ควายป่าอีกด้วย

ขุนช้าง ลูกของขุนศรีวิชัยกับนางเทพทอง เกิดมาก็หัวล้าน รูปร่างน่าเกลียด ยิ่งเติบใหญ่ หัวก็ยิ่งล้านกว่านกตะกรุม คางและอกมีขนขึ้นรุงรังดูน่าเกลียดน่ากลัวจนเด็กเล็กต่างร้องไห้ตกใจกลัว นอกจากนี้รับราชการกรมตำรวจภูบาล กรมเดียวกับขุนแผน และยังลวงนางพิมพิลาไลยมาเป็นเมียอีกด้วย

ขุนเพชร ขุนราม สองเพื่อนของขุนช้างขุนแผนที่อยู่ในสังกัดเดียวกัน คือ กรมตำรวจภูบาล

ขุนเพชรอินทรา ข้าราชการในกรมตำรวจ ซึ่งปัจจุบันทางกรมตำรวจเคยเอาราชทินนามนี้มาตั้งชื่อเรือกลไฟของกรมตำรวจลำหนึ่ง

ขุนรามอินทรา ข้าราชการในกรมตำรวจ ซึ่งปัจจุบันเคยมีราชทินนามนี้เป็นถึงอธิบดีกรมตำรวจ และได้เป็นเจ้าของที่ดิน ต่อมารัฐบาลได้ทำถนนตัดเส้นทางผ่านที่ดินของท่าน จึงให้ชื่อว่า “ถนนรามอินทรา” ดังที่รู้จักกันอยู่ทุกวันนี้

ขุนศรีวิชัย ตำแหน่งเป็นนายกรมช้างกองนอก มีหน้าที่ดูแลช้างหลวงในสุพรรณบุรี และคอยสอดส่องติดตามโขลงช้างป่าอีกด้วย มีเมียชื่อ “นางเทพทอง” เป็นพ่อของ “ขุนช้าง”

โขลน มีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยในเขตพระราชฐานชั้นใน คล้ายๆงานนครบาลคือรักษาความสงบ จึงได้ตั้งเป็น “กรมโขลน” โดยมีกองรักษาการณ์อยู่ที่ศาลา มียามประจำตามสี่แยกหรือตามสถานที่สำคัญ เช่น ประตูพระราชวัง ยามเหล่านี้มียศเป็นจ่า เรียกว่า “จ่าโขลน” ซึ่งเป็นผู้หญิงและอยู่ในฐานะหัวหน้ายามผู้หญิงอีกด้วย มีเครื่องแต่งกายโดยเฉพาะคือ นุ่งผ้าพื้น สวมเสื้อจีบที่เอว แขนยาวแบบเสื้อกระบอก ห่มผ้าทับข้างนอก บนแขนเสื้อจ่าติดบั้งสี่บั้ง นอกจากนี้ กรมโขลนยังมีพนักงานทำหน้าที่อื่นๆด้วย เช่น ดูแลโรงพระประเคนสำหรับในงานหลวง ผู้ดุแลเรียกว่า “นายหุ่นโขลน”

ครูมี ครูรองศรี นายทั่ง นายเพชร นายมา พระยานนท์ ครูขับเสภาในงานรับขวัญพลายงามที่นางทองประศรีจัดให้

จตุสดมภ์ทั้งสี่ คือเวียงวังคลังนา ทั้งสี่กรมนี้ขึ้นกับสมุหนายก อยู่ฝ่ายพลเรือน ตำแหน่งหน้าที่เหล่านี้เริ่มจัดให้มีขึ้นในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ คือ สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง (พ.ศ. ๑๘๙๓ -๑๙๑๒) การจัดอย่างนี้จัดอย่างแบบเขมร นั่นคือ

กรมเวียงหรือกรมเมืองว่านครบาลหรือกระทรวงนครบาล มีพระยายมราชอินทรบดีเป็นหัวหน้า มีหน้าที่ปกครองดูแลความสงบเรียบร้อยในราชธานี และแต่งตั้งขุนนางไปปกครองหัวเมืองในวงราชธานี

กรมวัง มีออกญาธรรมาธิบดีเป็นหัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชากรมวัง มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับความเรียบร้อยของพระราชวัง พระราชสำนัก พระราชพิธีต่างๆ และพิพากษาคดีความของราษฎร เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระอีกด้วย สำหรับหัวเมืองต่างๆ ขุนวังมีอำนาจแต่งตั้งยกกระบัตรไปประจำหัวเมืองต่างๆ เมืองละหนึ่งคน สำหรับรายงานการรักษาความยุติธรรมในเมืองนั้นๆ เพื่อนำเข้ามากราบบังคมทูล ในสมัยต่อมาเปลี่ยนเป็นธรรมาธิกรณ์

กรมคลังว่าโกษาธิบดีหรือกระทรวงการคลัง มีออกญาศรีธรรมราชเดชาชาติ อำมาตยานุชาติพิพัทรัตนราชโกษาธิบดี อภัยพิรียกราพาหุ เรียกสั้นๆว่า “พระยาโกษาธิบดี” เป็นหัวหน้า มีหน้าที่รับจ่าย เก็บพระราชทรัพย์ที่ได้มาจากภาษีอากรต่างๆ ต่อมามีหน้าที่ดูแลสินค้าหลวง การค้าสำเภา การค้าต่างประเทศ ซื้อสิ่งของที่ต้องการใช้ในราชการและขายของที่เหลือใช้ในท้องพระคลัง สมัยต่อมาเปลี่ยนเป็นโกษาธิบดี

กรมนาว่าเกษตราธิการหรือกระทรวงเกษตร มีออกญาพลเทพราชเสนาบดีเป็นหัวหน้า มีหน้าที่ตรวจตราการใช้ที่ดิน ส่งเสริมให้ประชาชนใช้ที่ดินให้เป็นประโยชน์ ดูแลการชลประทาน พิพากษาคดีที่ดิน วัว ควาย เก็บข้าวขึ้นฉางหลวงไว้เป็นเสบียงยามสงคราม

การจัดหน่วยงานดังว่านี้ ได้ยกเลิกเปลี่ยนแปลงใหม่หมดสิ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕

จมื่นไวยวรนาถ ตำแหน่งหัวหมื่นมหาดเล็ก มีศักดิ์สูงเท่ากันกับจมื่นศรีเสาวรักษ์ และคนทั่วไปเรียกตำแหน่งนี้อีกชื่อหนึ่งว่า “คุณพระนาย” ในสมัยรัตนโกสินทร์มีผู้ได้รับบรรดาศักดิ์นี้อยู่หลายท่าน แต่ที่เด่นและถือว่าเป็นบุคคลสำคัญมีอยู่ ๒ ท่าน คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และ จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต)

จมื่นศรีเสาวรักษ์ คำว่า “ศรีเสาวรักษ์” เป็นคำเก่า แต่ในชั้นหลังเรียก “ศรีสรรักษ์” ส่วนคำ “จมื่น” คือ “เจ้าหมื่น” นั่นเอง ฉะนั้นตำแหน่งนี้จึงเป็นตำแหน่งหัวหมื่นมหาดเล็ก โดยเป็นผู้บังคับบัญชามหาดเล็กหรือทหารรักษาพระองค์ทั้งปวง แต่สมัยนั้นอยุธยาเรียกกันว่า “ตำรวจ” นั่งบัญชาการอยู่ที่ทิมดาบใน ซึ่งเป็นลักษณะตึกหลังยาวๆ โดยมีทหารในบังคับพักอยู่ในตึกหลังนี้ เป็นที่ติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่ข้างในกับข้างนอก อยู่ในพระบรมมหาราชวัง

จางวางตำรวจใน คำว่า “จางวาง” หมายถึงตำแหน่งยศข้าราชการชั้นสูงในกรมมหาดเล็ก, ตำแหน่งผู้กำกับข้าราชการ, ตำแหน่งหัวหน้ามหาดเล็กของเจ้านายชั้นบรมวงศ์

เจ๊กจ๋อง ชาวจีนที่มาอาศัยในอยุธยา แล้วเมียของเจ๊กจ๋องถูกจระเข้เถนขวาดกัดตาย

เจ้าท้าวคำแมน ต้นตระกูลของแสนตรีเพชรกล้า ฝ่ายล้านนา

เจ้าพระยาจักรี ชื่อบรรดาศักดิ์และราชทินนามเต็มว่า เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ อัครมหาเสนาบดีบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ สมุหนายก หรืออีกชื่อหนึ่งว่า “เจ้าพระยาราชสีห์” เพราะเป็นผู้ถือตราราชสีห์เพื่อประทับตราลงท้ายหนังสือราชการแทนลงชื่อเหมือนปัจจุบัน

เจ้าเมืองโคราช ผู้รั้งเมืองนครราชสีมา และแจ้งข่าวให้เจ้าพระยาจักรีรู้ว่า พระเจ้าล้านช้างได้ส่งราชทูตเพื่อนำเครื่องราชบรรณาก��รมาถวายพระพันวษา

เจ้าเมืองสวรรคโลก มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาเกษตรสงครามรามณรงค์ ปัจจุบันคืออำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ถือศักดินา ๑๐,๐๐๐

เจ้าสร้อยฟ้า พระธิดาพระเจ้าเชียงใหม่กับนางอัปสรสุมาลี เป็นเมียพระราชทานของพลายงาม ต่อมาให้เถนขวาดทำเสน่ห์ และถูกจับได้ในภายหลังจึงถูกไล่กลับเมืองเชียงใหม่

ชีต้น “ชี” เป็นคำพูดต้นนามในเชิงยกย่อง ซึ่งอาจจะถืออยู่ในเกณฑ์เป็น “พระ” หรือ “ผู้ถือบวช” ก็ได้

เณรจิ๋ว ลูกศิษย์ของเถนขวาด

เณรอ้น เณรที่บวชเรียนที่วัดเดียวกันกับเณรแก้ว คือวัดป่าเลไลยก์

ตระลาการ ผู้ชำระความเท็จจริงด้วยการไต่สวนทวนพยาน ผลการไต่สวนทวนพยานจะสรุปเป็น “กระทงแถลง” ส่งกลับไปให้ลูกขุนชี้ขาดความผิดถูกอีกที

ตาเถรไทย เป็นพระผู้ใหญ่ วัดป่าเลไลยก์ ที่เห็นเณรแก้วทำอาบัติกับนางสายทองจึงไปฟ้องสมภารมี

ตาทองอยู่ คนขับเสภาที่รู้ภาษาลาวและขับเสภาเก่งอีกคนหนึ่ง และยังมีอาชีพเป็นครูละคร โดยเล่นละครหลวงซึ่งเป็นตัวพระของ “เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์” ในสมัยรัชกาลที่ ๑ พอสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้เป็นครูนายโรงละครหลวงรุ่นใหญ่ และได้เป็นที่ปรึกษาหรือกำหนดท่ารำถวายแด่ “เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี” อันเป็นการกำหนดท่ารำของละครเรื่องอิเหนาและรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังใช้ท่ารำนี้กันอยู่ อีกทั้งวงการละครนาฏศิลป์ก็ยังไหว้ครูทองอยู่ ในฐานะครูละครของโขนและละครอีกด้วย

ตาบัว บ่าวของขุนแผน

ตาพุ่ม บ่าวของนางทองประศรี

ตารัก ตาหลอ สองนายทหารไทยคนสนิทของพระท้ายน้ำที่ถูกพระเจ้าเชียงใหม่จับมาจองจำด้วยกันกับพระท้ายน้ำ และบอกเส้นทางของคุกที่ถูกจองจำให้ขุนแผนได้รู้ ระหว่างที่ออกมาเกี่ยวหญ้า

ตาสน ตาเสา ยายมิ่ง ยายเม้า นางทองประศรีขอให้ไปเป็นเถ้าแก่สู่ขอนางพิมพิลาไลยให้พลายแก้ว

เถนขวาด เดิมอยู่ที่วัดเชียงใหม่ มีวิชาอาคมขลังมาก เป็นคนที่เจ้าเมืองเชียงใหม่ฝากให้ช่วยดูแลนางสร้อยฟ้า และต่อมาก็ทำเสน่ห์ให้สร้อยฟ้าจนถูกพลายชุมพลจับได้ และตอนหลังหนีไปได้ กระทั่งต่อมาแปลงตัวเป็นจระเข้ไล่ฆ่าผู้คนไทย แต่ในที่สุดก็ถูกพลายชุมพลจัดการสำเร็จโดยถูกฆ่าตายด้วยดาบฟ้าฟื้น

ทะลวงฟัน ทหารระดับหัวหมื่น สังกัดมหาดไทย

ท้าวกรุงกาฬ ท้าวหนู เพี้ยกวาน เพี้ยกวานขนานอ้าย เพี้ยปราบพระยาเมืองแมน เสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายพระเจ้าเชียงอินทร์ (เชียงใหม่)

ท้าววรจันทร์ เป็นหัวหน้าท้าวนาง เทียบกับข้าราชการฝ่ายหน้าก็เปรียบเสมือนสมุหนายก มีหน้าที่พิทักษ์รักษาบังคับบัญชาดูแลพระสนมกำนัลทุกชั้น มีทั้งงานประจำและงานในพระราชพิธีพิเศษต่างๆ อาทิ ราชาภิเษก นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ถวายพระสนม ๑๒ พระกำนัลอีกด้วย มีศักดินา ๑,๐๐๐ ไร่ ซึ่งเท่าที่ปรากฏว่าผู้ที่เป็นท้าววรจันทร์ คือ เจ้าจอมมารดาอิ่ม พระสนมเอกในรัชกาลที่ ๑ พระองค์เจ้าหญิงสุมาลี สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๒ และเจ้าจอมมารดาวาด ในรัชกาลที่ ๕

ท้าวศรีสัจจา คล้ายๆนางสนองพระโอษฐ์ในปัจจุบันซึ่งดูแลว่าการจ่าโขลน ควบคุมประตูวัง ปราสาทราชมนเทียรชั้นใน และอารักขาทั่วไป พวกชาววังสมัยก่อนเรียกกันว่า “เจ้าคุณประตูดิน” และที่ปรากฏนามของท้าวศรีสัจจาท่านนี้คือ “มิ” หรือ “ลิ้ม” บุตรีของ “พระนมรอด” ซึ่งเป็นน้องสาวสุดท้องของ “พระชนนีเพ็ง” หรือเป็นน้าของ “สมเด็จพระศรีสุลาลัย” พระพันปีหลวงใน “พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ” อีกทั้งยังมีศักดิ์เป็นยายน้อยและพระนมของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ อีกด้วย

ธรรมเถียร ๑ ใน ๓๕ คน ที่เป็นทหารอาสาออกไปรบกับขุนแผน และเคยเป็นนักโทษมาก่อน

นางเกสร พระมเหสีของพระเจ้าล้านช้าง พระมารดานางสร้อยทอง

นางแก่นแก้ว ลูกสาวหมื่นแผ้ว ต่อมาเป็นเมียขุนช้างได้ปีเศษๆ ก็ล้มเจ็บผอมแห้งจนหน้าแข็งเป็นเกร็ดซึ่งละเลยการรักษามานานโดยไม่ได้รักษาอย่างถูกต้องจนตายในเวลาต่อมา

นางแก้วกิริยา ลูกสาวเจ้าเมืองสุโขทัยและนางเพ็ญจันทร์ ถูกนำมาเป็นประกันเงินกู้ขุนช้าง จึงไม่สามารถกล่าวได้เต็มปากว่าเป็นทาสเหมือนนางสายทองเสียทีเดียว แต่ใช่ว่าจะไม่ใช่ทาสก็ไม่ถูกนัก ฐานะของนางจึงก้ำกึ่ง หากถือเป็นทาสก็เป็นทาสชั้นสูงที่สูงกว่านางสายทองแน่นอน เพราะมีห้องนอนส่วนตัวสมฐานะการเป็นลูกสาวเจ้าเมืองนั่นเอง

นางทองประศรี เมียขุนไกรพลพ่าย แม่ของพลายแก้วหรือขุนแผน มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ที่ตำบลวัดตะไกร มีนิสัยมั่นคง เด็ดขาด มุทะลุ เป็นนักเลงนิดๆ ต่อมาพลายแก้วได้รับอิทธิพลในพื้นนิสัยของนางไว้มากทีเดียว

นางเทพทอง เมียขุนศรีวิชัย แม่ของขุนช้าง อยู่ตำบลท่าสิบเบี้ย สุพรรณบุรี

นางบุษบา เมียของพระพิจิตร แม่ของนางศรีมาลา

นางพิมพิลาไลย ลูกของพันศรโยธากับนางศรีประจัน ต่อมาล้มป่วยเกือบตาย หลวงตาจูจึงเปลี่ยนชื่อให้ใหม่ว่า “วันทอง” เป็นแม่ของพลายงาม เป็นเมียของขุนแผนก่อน แล้วมาเป็นเมียขุนช้าง ต่อมาถูกประหารชีวิตกลายเป็นเปรตอสุรกายวันทอง

นางเพ็ญจันทร์ เมียของพระยาสุโขทัย แม่ของนางแก้วกิริยา

นางบัวคลี่ ลูกสาวของหมื่นหาญ (นายเดชกระดูกดำ) และนางสีจันทร์ เป็นเมียของขุนแผนแต่ต่อมาถูกขุนแผนฆ่า แล้วเอาเด็กในท้องมาทำเป็นกุมารทอง

นางเมือง บ่าวของขุนช้าง

นางลาวทอง ลูกสาวของแสนคำแมนกับนางศรีเงินยวง เป็นเมียของขุนแผน และเป็นผู้จุดชนวนให้นางพิมพิลาไลยกับขุนแผนต้องแตกหักกันโดยไม่เจตนา ทั้งที่โดยนิสัยแท้จริงเป็นคนอารมณ์ดี ไม่มีจริตหรือพยศ ทั้งยังมีความศรัทธาเลื่อมใสในศาสนาอีกด้วย แต่ต่อมาถูกกักบริเวณอยู่ในวัง โดยไปอยู่ฝ่ายปักสะดึง เป็นเวลานานมาก เนื่องจากมีฝีมือปักม่านได้สวยงามไม่แพ้นางวันทอง และในที่สุดได้กลับมาใช้ชีวิตคู่กับขุนแผนอีกครั้ง

นางเวียงนางวัน พี่เลี้ยงและข้าไทของนางลาวทอง

นางศรีเงินยวง เมียของแสนคำแมน นายบ้านจอมทองและเป็นแม่นางลาวทอง

นางศรีประจัน เมียพันศรโยธา แม่ของนางพิมพิลาไลยหรือนางวันทอง อยู่ตำบลท่าพี่เลี้ยง จัดได้ว่าเป็นคนปากจัดระดับมือวางอันดับหนึ่งของสุพรรณบุรี เป็นคนออกจะรั้น ไม่ยอมฟังเสียงใคร เป็นคนหูเบา เห่อเศรษฐี แต่พื้นเพนิสัยจริงๆเป็นคนดี สนิทกับนางทองประศรีอยู่มากทีเดียว

นางศรีมาลา ลูกสาวพระพิจิตรกับนางบุษบา ต่อมาเป็นเมียของพลายงาม

นางสร้อยทอง พระราชธิดาพระเจ้าล้านช้างกับนางเกสร เป็นบาทบริจาริกาสมเด็จพระพันวษา

นางสายทอง เป็นทาสชนิดค่าไถ่แต่เป็นทาสชั้นสูง เพราะเป็นพี่เลี้ยงของนางพิมพิลาไลย จึงได้อยู่บนเรือนในฐานะเท่าเทียมกับนางพิมพิลาไลย และยังมีอำนาจเหนือนางพิมพิลาไลยอยู่มาก ซึ่งนิสัยใจคอและพฤติกรรมของนางพิมพิลาไลยส่วนมากก็มาจากความคิดและการชักนำของนางสายทองเกือบจะทั้งหมด

นางไหม สาวใช้ของนางสร้อยฟ้า

นางสีจันทร์ เมียของหมื่นหาญ (นายเดชกระดูกดำ) แม่ของนางบัวคลี่

นางอัปสรสุมาลี พระมเหสีพระเจ้าพิชัยเชียงอินทร์ (พระเจ้าเชียงใหม่) พระมารดานางสร้อยฟ้า

นายคงมั่น นายปานขวานฟ้า ม้าเร็วของขุนแผนที่นำใบบอกของขุนแผนว่าจับพระเจ้าเชียงใหม่สำเร็จ ทูลเกล้าถวายพระพันวษา

นายจันศร เป็นโจรโดยอาชีพ อาศัยอยู่บ้านโป่งแดง

นายแจ้งยายมา พ่อเพลงแม่เพลงปรบไก่ซึ่งเล่นในงานศพของนางวันทอง

นายดำ บ่าวของนางทองประศรี

นายเดชกระดูกดำ มีตำแหน่งเป็นหมื่นหาญ ซึ่งอยู่ในชั้นหมื่นประทวน โดยเจ้าเมืองเป็นผู้ตั้งให้ ฉะนั้นจึงไม่ได้เป็นโจรเหมือนนายจันศร เพียงแต่เป็นผู้มีอิทธิพลมากในท้องถิ่นจนทางราชการต้องยอมรับ มีลักษณะคล้ายๆ สก. หรือ สจ. หรือ อบต. ในปัจจุบันนี้ '''

นายบุญ ไวยาวัจกรวัดป่าเลไลยก์ หมายถึงผู้ทำกิจธุระแทนสงฆ์ มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและจัดการทรัพย์สินของวัดตามที่เจ้าอาวาสมอบหมาย, ผู้เก็บเงินของวัดหรือของพระ

นายปาน นายโม้ นายเม้า นายโห้ พรหมศร สำมะยัง ไพร่พลของขุนแผนที่มาสู้รบกับทัพลาว

นายพันธการ น่าจะอยู่ในกองพะทำมะรงเพราะได้มาบอกข่าวแก่ขุนช้างว่าขุนแผนได้ถูกจับแล้ว

นายสอยดาว นายทหารของพระเจ้าเชียงใหม่ที่ขี่ช้างคุมทัพหลังให้

นายไหม ข้าไทของหลวงฤทธานนท์ที่นำจดหมายไปบอกให้นางทองประศรีรู้ว่าจะถูกริบราชบาตร หลังจากที่ขุนไกรพลพ่ายถูกประหารชีวิต

พระครูทั้งสี่ พราหมณ์หัวหน้าลูกขุนใหญ่ มีดังนี้ พระมหาราชครู ๒ คน คือ ๑. พระราชมหิธรธรรมราชสุภาวดี ศรีวิสุทธิคุณวิบุลธรรม วิสุทธิพรหมจริยาธิบดีศรีพุฒาจารย์ ๒. พระราชประโรหิตาจารย์ราชสุภาวดี ศรีบรมหงส์องคปุริโสดม พรหมญาณวิบุลศีลสุจริต วิวิธเวทยพรหมพุฒาจารย์ และพระราชครู ๒ คน คือ ๑. พระครูพิเชตสรราชอธิบดีศรีสรคม ๒. พระครูพิรามราชสุภาวดี ตรีเวทจุฑามณีศรีบรมหงส์

พระคลัง เสนาบดีที่ดูแลท้องพระคลัง ข้าราชการมหาดไทย

พระเจ้าพิชัยเชียงอินทร์ กษัตริย์ผู้ครองนครเชียงใหม่ ซึ่งต้องการนางสร้อยทองมากจึงไปแย่งชิงมาระหว่างที่นางสร้อยทองเดินทางไปถวายตัวให้พระพันวษา และต่อมาถูกขุนแผนจับได้ นำมาส่งตัวถวายพระพันวษาให้ทรงลงโทษ พระพันวษาทรงเมตตาจึงปล่อยกลับ พระเจ้าพิชัยเชียงอินทร์หรือพระเจ้าเชียงใหม่ จึงถวายนางสร้อยฟ้าให้เป็นบาทบริจาริกา แต่พระพันวษาทรงกลับพระราชทานให้พลายงามอีกทีหนึ่ง มีพระมเหสีชื่อนางอัปสรสุมาลี

พระเจ้าล้านช้าง อีกชื่อหนึ่งคือเจ้าเชียงทอง กษัตริย์ผู้ครองกรุงนาคบุรี เป็นพวกหลวงพระบางหรือลาวพุงขาว และยังส่งพระธิดาสร้อยทองให้ไปเป็นบาทบริจาริกาสมเด็จพระพันวษา เพื่อเลี่ยงการขอจากพระเจ้าเชียงใหม่ มีพระมเหสีชื่อนางเกสร

พระท้ายน้ำ เป็นหนึ่งในเจ้ากรมอาสาหกเหล่าฝ่ายซ้าย นั่นคือ ออกญาสีหราชเดชะชัย อภัยพิริยปรากรมพาหุ เรียกอย่างสั้นว่า “ออกญาสีหราชเดชะ” และมักเรียกย่อว่า “ท้ายน้ำ” ถือตราองคตถือพระขรรค์ ขึ้นต่อสมุหพระกลาโหม ฉะนั้นหน้าที่ฝ่ายนี้คือการตั้งกองระวังรักษาหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “กองคอยเหตุ” ที่อยู่ท้ายน้ำ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินออกนอกพระราชวังไปประทับที่แห่งใดแห่งหนึ่ง

พระนายเสมอใจ คือจมื่นเสมอใจราช หัวหมื่นมหาดเล็กปลายเชือก และเป็นเพื่อนเจ้าบ่าวของพลายงาม ซึ่งตามธรรมเนียมโบราณแล้วต้องเป็นคนมีเมียแล้ว

พระพิจิตร เจ้าเมืองพิจิตร พ่อของนางศรีมาลา มีเมียชื่อนางบุษบา

พระมหาราชครู เป็นตำแหน่งทางราชการ ทำหน้าที่ตัดสินคดีความในลูกขุน ณ ศาลหลวง แต่ทว่าในชื่อและราชทินนามบรรดาศักดิ์นี้มีอยู่ ๒ ท่าน จึงไม่แน่ใจว่าจะเป็น พระราชมหิธรธรรมราชสุภาวดี ศรีวิสุทธิคุณวิบุลธรรม วิสุทธิพรหมจริยาธิบดีศรีพุฒาจารย์ หรือ พระราชประโรหิตาจารย์ราชสุภาวดี ศรีบรมหงส์องคปุริโสดม พรหมญาณวิบุลศีลสุจริต วิวิธเวทยพรหมพุฒาจารย์...คนใดคนหนึ่งแน่

พระยากลาโหม เสนาบดีกรมมหาดไทย ตำแหน่งสมุหพระกลาโหม บังคับบัญชาหัวเมืองปักษ์ใต้ ในพระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง ออกชื่อว่า “เจ้าพญามหาเสนาบดี วิริยภักดีบดินทร สุรินทรฦๅไชย อไภยพิริยปรากรมภาหุ สมุหพระกลาโหม ใช้ตราพระคชสีห์ ถือศักดินา ๑๐,๐๐๐”

พระยากำแพงเพชร มีบรรดาศักดิ์และราชทินนามว่า ออกญารามรณรงคสงครามรามภักดีอภัยพิริยภา หะ กำแพงเพชร ถือศักดินา ๑๐,๐๐๐

พระยาจันทรังสี เสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายกลาโหมของพระเจ้าเชียงใหม่

พระยาเดโช เป็นหนึ่งในเจ้ากรมอาสาหกเหล่าฝ่ายขวา นั่นคือ ออกญาสีหราชเดโชชัย อภัยพิริยปรากรมพาหุ เรียกอย่างสั้นว่า “ออกญาสีหราชเดโช” และมักเรียกย่อว่า “เดโช” ถือตราหนุมานแผลงฤทธิ์ ขึ้นต่อสมุหพระกลาโหม ฉะนั้นหน้าที่ฝ่ายนี้คือการตั้งกองระวังรักษาหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “กองคอยเหตุ” ที่อยู่เหนือน้ำ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินออกนอกพระราชวังไปประทับที่แห่งใดแห่งหนึ่ง

พระยาเถิน พระยาระแหง สองข้าราชการไทยที่ส่งใบบอกให้พระยา (พระ) ราม (เจ้าเมืองกำแพงเพชร) ได้รู้ข่าวทัพศึกเชียงใหม่ตีเชียงทองแล้วจะมาตีไทย

พระยาท้าวแสนหลวง เสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ของพระเจ้าเชียงใหม่

พระยาธรรมาธิบดี คือจตุสดมภ์กรมวังหรือเสนาบดีกระทรวงวัง

พระยาฟ้าลั่น แม่ทัพที่คุมทัพหลวงของพระเจ้าเชียงใหม่

พระยาเมืองแมน แม่ทัพของพระเจ้าเชียงใหม่

พระยายมราช ตำแหน่งว่ากรมนครบาลหรือกรมเมือง

พระยาศรีเสาวพ่าห์ นายม้าต้น

พระยาสุโขทัย พ่อของนางแก้วกิริยาที่ขาดเงินส่งพินัยหลวงให้พระคลัง จึงต้องนำลูกสาวมาขายขัดดอกให้ขุนช้าง มีเมียชื่อนางเพ็ญจันทร์

พระยาอนุชิต คือพระยาอนุชิตราชา จางวางกรมพระตำรวจขวา

พระรองเมือง คือพระราชรองเมือง

พระรามจัตุรงค์ เสนาบดีฝ่ายจตุสดมภ์ที่ทูลให้สมเด็จพระพันวษาทรงทราบว่าพลายแก้วลูกของขุนไกรพลพ่ายจะทำการศึกกับทัพพระเจ้าเชียงใหม่ได้

พระสุพรรณบุรี ผู้รั้งเมืองสุพรรณบุรี

พระสุเมธกะละดง เป็นชื่อของตัวละครชาวมอญที่พลายชุมพลอุปโลกน์ขึ้นมาลอยๆว่าเป็นครู

พระหมื่นศรี เพื่อนทหารของขุนช้างขุนแผนที่อยู่สังกัดเดียวกัน คือกรมตำรวจภูบาล

พรานรอด คนบอกเส้นทางหนีในป่าของขุนแผนกับนางวันทองให้ขุนช้างรู้

พรายเพชรพรายกุมารทอง ผีที่พลายชุมพลปลุกเสกขึ้นมาเพื่อให้ถือหนังสือบอกไปยังขุนแผนให้รู้ความจริง

พลายแก้ว ลูกของขุนไกรพลพ่ายกับนางทองประศรี เมื่อเติบโตรับราชการได้ความดีความชอบจนได้กินตำแหน่งเป็น “ขุนแผนแสนสะท้าน” ปลัดซ้ายในกรมตำรวจภูบาล ซึ่งอยู่กรมอาทมาต อันเป็นกรมเดียวกับขุนไกรพลพ่ายผู้เป็นบิดาเคยสังกัดอยู่ ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่ง มีบรรดาศักดิ์เป็น “พระสุรินทร์ฦๅไชยมไหศูรยภักดี” เจ้าเมืองกาญจนบุรี แต่ทว่าในทำเนียบศักดินาโบราณเป็น “ออกญาพิชัยภักดีศรีมไหศวรรย์”

พลายงาม ลูกของขุนแผนกับนางพิมพิลาไลย เมื่อพลายงามเติบใหญ่ รับราชการได้เป็นมหาดเล็กซึ่งมิใช่มหาดเล็กเรือนนอก แต่ต่อมาเมื่อทำความดีความชอบจึงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นจมื่นไวยวรนาถ เป็นหัวหมื่นมหาดเล็กเวรขวา ซึ่งเป็นเวรรับสั่งข้างขึ้น

พลายชุมพล ลูกของขุนแผนกับนางแก้วกิริยา ต่อมาได้ทำความดีความชอบจึงได้เลื่อนเป็นหลวงนายฤทธิ์ นายเวรมหาดเล็กเวรขวา กรมเดียวกับพลายงาม ผู้เป็นพี่ชายต่างมารดา

พลายเพชร ลูกของพลายงามกับนางศรีมาลา

พลายยงพงศ์นพรัฐ ลูกของพลายงามกับนางสร้อยฟ้า คำว่า “นพรัฐ” หมายถึง “นพบุรี” ซึ่งเป็นชื่อของเมืองเชียงใหม่ว่า “นพบุรีศรีพิงคะไชยเชียงใหม่” ต่อมาเป็นกษัตริย์ครองเมืองเชียงใหม่ คือ “พระเจ้าสมมุติวงศ์”

พะทำมะรง เป็นหัวหน้าผู้คุมในคุก ซึ่งมีอยู่สองตำแหน่ง มีบรรดาศักดิ์ชั้นพัน และมีราชทินนามว่า พันพิทักษ์เทวา และ พันรักษาราตรี และว่ากันว่าพะทำมะรงชื่อ พันรักษาราตรีในขุนช้างขุนแผนได้กลายเป็นครูเสภาไปด้วย เพราะ “เสภา” แปลว่า “คุก” นั่นเอง

พันโชติกำนันแดง นายบ้านตำบลท่าพี่เลี้ยง

พันภาณ เข้าใจว่าจะเป็นพันทรงพลภาณ นายม้าจูงขวา ทำให้ไปคล้ายกับพันภาณุราช หมายถึง พระอาทิตย์ ซึ่งเป็นหัวหน้าเกณฑ์ผู้คนช้างม้า เป็นข้าราชการในกรมมหาดไทย โดยมีสี่หัวพันด้วยกันคือ พันภาณุราช พันจันณุมาศ พันเภานุราช พันพุฒอนุราช ส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับม้าแท้ๆ คือ พันภานุราช (พันเภาอัศวราช) กับนายควรรู้อัศว์ นายเวร สองนาย

พันเภา บรรดาศักดิ์ว่า “พันเภานุราช” ข้าราชการกร��ทรวงมหาดไทย และคำว่า “พันเภา” หมายถึง อังคาร

พันมโน ทหารในชั้นพัน อยู่ในสังกัดของนายด่านบ้านท่าเกวียน เมืองสวรรคโลก

พันศรโยธา เป็นตำแหน่งพันในกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ตรวจสอบภาษีของหลวงและรวบรวมผู้คนโดยถือทะเบียนคนที่สังกัดต่อกรมกอง และน่าจะเป็นกรมการเมืองสุพรรณบุรีอีกด้วย มีเมียชื่อ “นางศรีประจัน” พ่อ “นางพิมพิลาไลย”

พัศดี ผู้บังคับการเรือนจำ ผู้ปกครองนักโทษ

เพี้ยสุวรรณบัฏ (บัตร) เป็นราชทูตที่ถือพระราชสาสน์ไปยังกรุงล้านช้าง

ผีหลวง คือทิศที่เป็นอัปมงคล สำหรับการโคจรของผีหลวงซึ่งอยู่ที่ทิศเหนือ และเชื่อกันว่ามีผีประจำทิศต่างๆในวันหนึ่งๆ คือตั้งแต่วันอาทิตย์ถึงวันเสาร์ซึ่งจะมีทิศผีหลวงประจำทิศตามกันไป และทิศใดเป็นทิศผีหลวงถือว่าเป็นกาลกิณี ต้องหลีกเลี่ยงทิศนั้นๆเสีย

มหาดเล็กชาวที่ พระมหากษัตริย์สมัยอยุธยาจะมีมหาดเล็ก ๔๔ นาย แบ่งออกเป็น ๔ เวร คือ เวรศักดิ์ เวรสิทธิ์ เวรฤทธิ์ และ เวรเดช แต่ละเวรมีหุ้มแพรเป็นหัวหน้า ชื่อ นายกวด นายขัน นายฉัน และ นายชิด เป็นตำแหน่งดั้งเดิมหรือราชทินนามทั้งสิ้น มิใช่ชื่อของเจ้าตัว ภายหลังมาเพิ่มจำนวนหุ้มแพรขึ้นอีก ก็มีนายสนิท นายเสน่ห์ นายเล่ห์อาวุธ นายสุดจินดา เป็นต้น ซึ่งการเข้าเวรของมหาดเล็ก จะมีเวรละ ๑๑ นาย เวรต้น ๒ เวร เป็นฝ่ายขวาและหมอบเฝ้าอยู่ในท้องพระโรงทางเบื้องขวาพระหัตถ์ อีก ๒ เวรเป็นฝ่ายซ้าย และหมอบเฝ้าอยู่ในท้องพระโรงทางเบื้องซ้ายพระหัตถ์ โดยพระองค์พระราชทานชื่อตั้งและดาบยศเล่มหนึ่งให้ทุกคน เป็นผู้เชิญกระแสรับสั่งไปส่งยังข้าหลวง (ข้าหลวงเหล่านี้ พระมหากษัตริย์จะโปรดให้ออกไปตามหัวเมือง เพื่อปฏิบัติราชการตามธรรมดาหรือราชการพิเศษ) นอกจากหน้าที่นี้แล้ว มหาดเล็กยังทำหน้าที่อื่นอีกด้วย อาทิ ทำหน้าที่ถวายพระศรี รักษาพระแสงราชาวุธ รักษาพระสมุด และถ้าทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานราชานุญาติ ก็อ่านถวายหน้าพระที่นั่ง แล้วหมอบกราบถวายบังคมเข้าเฝ้าในท้องพระโรงทั้งเบื้องซ้ายและเบื้องขวาพระหัตถ์เป็นที่เรียบร้อย พระมหากษัตริย์ก็จะเสด็จลงประทับว่าราชการ

มะถ่อธะบม คนแจวเรือจ้างที่ถูกขุนแผนลวงให้ไปส่งข้ามฟาก โดยอ้างว่ามีรับสั่งให้ไปสืบช้างสำคัญ

มะโนใหญ่และศรีวิไชย สองผีลาวพ่อลูกที่ขุนแผนให้พาเข้าเมืองเชียงใหม่

เม้ยแมงตะยา เป็นชื่อของตัวละครชาวมอญที่พลายชุมพลอุปโลกน์ขึ้นมาลอยๆว่าเป็นแม่

ยายกลอยยายสา เป็นเถ้าแก่ให้ขุนช้างเพื่อไปขอนางพิมพิลาไลยแต่ถูกนางด่ากลับมา

ยายปลียายเปล บ่าวของนางทองประศรี

ยายลาว บ่าวของหมื่นหาญ (นายเดชกระดูกดำ) และนางสีจันทร์ ที่เห็นนางบัวคลี่ตาย

ราชมัล เจ้าพนักงาน ผู้มีหน้าที่ทำโทษคน

ราชามาตย์ จมื่นราชามาตย์ ปลัดกรมพระตำรวจในซ้าย

ราทยา ศรราทยาที่ตามขุนช้างไปจับขุนแผน แต่ถูกขุนแผนเล่นงาน จนวิ่งหนีป่าราบ

ศรพระยา น้องชายของขุนช้าง

ศรีแก้วฟ้า ครูของแสนตรีเพชรกล้า อยู่ถ้ำวัวแดง

สมเด็จพระพันวษา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า คือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (พระเชษฐา) พระโอรสสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. ๒๐๓๔ – ๒๐๗๒)

สมภารเกิด สมภารวัดเขาชนไก่ จังหวัดกาญจนบุรี

สมภารคง สมภารวัดแค จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเพื่อนสนิทขุนไกรพลพ่าย

สมภารนาก สมภารวัดเขา จังหวัดสุพรรณบุรี

สมภารบุญ สมภารวัดส้มใหญ่ จังหวัดกาญจนบุรี

สมภารมี สมภารวัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี

สมภารส้ม สมภารวัดเขา จังหวัดสุพรรณบุรี

สมิงมัตรา เป็นชื่อที่พลายชุมพลตั้งขึ้นใหม่ว่าเป็นชาวมอญ เมืองหงสา เพื่อหลอกพลายงาม

สมิงแมงตะยะกะละออน เป็นชื่อของตัวละครชาวมอญที่พลายชุมพลอุปโลกน์ขึ้นมาลอยๆว่าเป็นพ่อ

สันบาดาล ปลัดทัพของพระเจ้าเชียงใหม่

สุภาการ เข้าใจว่าน่าจะอยู่ในส่วนฝ่ายพะทำมะรง โดยทำหน้าที่หาอาหารให้คู่คดีความ

เสมียนมี ช่างเขียนรูปฝาผนังวัดเครือวัลย์ ธนบุรี เป็นช่างในสมัยรัชกาลที่ ๓ และเข้าใจว่ายังเป็นหนึ่งในหลายคนที่แต่งกลอนเสภาขุนช้างขุนแผนด้วย

แสนกำกอง แสนตรีเพชรกล้า สองเสนาบดีผู้ใหญ่ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่'''

แสนคำแมน นายแคว้นบ้านจอมทอง มีศักดิ์เทียบกับปัจจุบันคือกำนัน เป็นพ่อของนางลาวทอง มีเมียชื่อนางศรีเงินยวง'''

หมื่นแผ้ว พ่อของนางแก่นแก้ว เป็นพ่อตาขุนช้าง

หมื่นวิเศษผล คนในสังกัดของจมื่นไวยวรนาถโดยได้รับคำสั่งจากพระไวยให้ไปบอกข่าวแก่ขุนช้างว่า พระไวยได้พาตัวนางวันทองมาไว้ที่บ้านพระไวย

หลวงญาณประกาศเทพราชธาดา เป็นลูกขุน ณ ศาลหลวง ตัดสินคดีความ และยังเป็นอธิบดีโหรดาจารย์อีกด้วย

หลวงตาจู พระผู้ใหญ่วัดป่าเลไลยก์และเป็นผู้ดูดวงให้นางวันทองว่าจะมีเคราะห์ร้าย

หลวงตาหนู พระที่บวชเณรหน้าศพนางวันทองให้ขุนช้าง

หลวงทรงพล นามเต็มว่าหลวงทรงพลราชสมุห เป็นตำแหน่งเจ้ากรมพระอัศวราชขวา

หลวงฤทธานนท์ เพื่อนสนิทและอยู่กรมเดียวกันกับขุนไกรพลพ่าย คือ กรมอาทมาต

หลวงศรีวรข่าน ขุนนางแขกชาวอิหร่าน ซึ่งสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มักจะใช้ขุนนางแขกที่เป็นชาวอิหร่านหรือมุสลิมเป็นข้าราชสำนักแห่งเมืองลพบุรี อยุธยาราชธานี

โหงพราย คือการเอาผีตายโหงหรือตายทั้งกลมมาเลี้ยงเท่านั้น

อ้ายผล ข้าไทของนางพิมพิลาไลย

อ้ายพลับ อ้ายสา บ่าวของขุนช้าง

อ้ายมาก ทหารคนหนึ่งที่ถูกขุนช้างอ้างถึงในการลวงนางวันทองว่าพลายแก้วตายแล้ว

อ้ายรอด บ่าวของขุนช้าง

อ้ายสา บ่าวของขุนแผน

อ้ายเสน ข้าไทของนางทองประศรี

อาลักษณ์ ทำงานด้านเอกสารซึ่งมีทั้งจดบันทึกข้อราชการต่างๆ และยังเป็นผู้แปลและเรียบเรียงพระราชสาสน์หรือเอกสารจากต่างประเทศให้พระมหากษัตริย์ทรงทราบอีกด้วย

อีกริม บ่าวของขุนช้าง แล้วต่อมาได้เป็นเมียบ่าวของขุนช้าง

อีบู่อีพรมอีมาอีมีอีเสียดอีเขียดอีรักอีจันอีโคก บ่าวของนางพิมพิลาไลย

อีเม้ย บ่าวของนางศรีมาลา

อุปฮาดพระยาแมน เสนาบดีบดีผู้ใหญ่ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่

อุปฮาดแสนหลวง เสนาบดีบดีผู้ใหญ่ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่

แหล่งที่มาดั้งเดิม: ${vars.title} แบ่งปันกับ ใบอนุญาต Creative Commons Attribution-ShareAlike 3.0

หมวดหมู่