สำนักงานวางทรัพย์ คืออะไร

ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดให้มีสำนักงานวางทรัพย์ในสังกัดของกรมบังคับคดีเพื่อทำหน้าที่รับชำระหนี้เสมือนเป็นตัวแทนเจ้าหนี้ ยามที่เกิดปัญหาไม่อาจรับชำระหนี้ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม โดยกำหนดหลักเกณฑ์ที่จะรับชำระหนี้แทนไว้ตามมาตรา 331 ดังนี้คือ

   1. กรณีเจ้าหนี้บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้
2. กรณีเจ้าหนี้ไม่สามารถจะรับชำระหนี้ได้
3. กรณีลูกหนี้ไม่อาจรู้ได้ว่า ใครเป็นเจ้าหนี้แท้จริง  โดยมิใช่ความผิดของตน

ถ้าเจ้าหนี้มีพฤติกรรมผิดปกติดังกล่าวข้างต้น ลูกหนี้ผู้สุจริตทั้งหลายอาจเลือกชำระหนี้ด้วยวิธีนี้ก็ได้ โดยต้องทำภายในกำหนดเวลาชำระหนี้ตามสัญญาเท่านั้น เมื่อท่านวางเงินตามจำนวนหนี้ทั้งหมดไว้ ณ สำนักงานวางทรัพย์ กฎหมายถือว่าท่านหลุดพ้นจากหนี้ดังกล่าวแล้วตามวันที่ซึ่งท่านชำระหนี้นั้น หากก่อนเจ้าหนี้มารับเงินจำนวนนั้น ท่านได้ถอนเงินออกไป กฎหมายจักถือว่า มิได้มีการวางทรัพย์ไว้เลย หนี้ยังคงมีอยู่เช่นเดิม

สิทธิถอนทรัพย์ของลูกหนี้เป็นอันหมดไปตามกฎหมายมาตรา 334 วรรค 2 กำหนดไว้ เมื่อ

   1. ลูกหนี้แสดงเจตนาว่า ยอมสละสิทธิที่จะถอน
2. เจ้าหนี้มารับเอาทรัพย์นั้นไป
3. การวางทรัพย์เป็นไปโดยคำสั่งหรืออนุมัติของศาลและได้บอกกล่าวความนั้นแก่สำนักงานวางทรัพย์

หลังจากวางเงินเพื่อชำระหนี้ไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์แล้ว ลูกหนี้จำต้องแจ้งให้เจ้าหนี้ทราบถึงวิธีการชำระหนี้กรณีนี้โดยพลัน ส่วนค่าธรรมเนียมต่างๆในการวางทรัพย์นั้น กฎหมายกำหนดให้เจ้าหนี้รับผิดชอบไปฝ่ายเดียว ยกเว้นกรณีที่ลูกหนี้ได้ถอนทรัพย์ที่วางเท่านั้น นั่นเท่ากับว่า การวางทรัพย์เพื่อชำระหนี้ของฝ่ายลูกหนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆเลย หากเจ้าหนี้ไม่ยอมมารับเงินของลูกหนี้ภายใน 10 ปี นับแต่ได้รับคำบอกกล่าวการวางทรัพย์โดยลูกหนี้หรือโดยสำนักงานวางทรัพย์แล้วแต่กรณี ทำให้สิทธิของเจ้าหนี้ในการรับทรัพย์ดังกล่าวระงับสิ้นไป ลูกหนี้สามารถถอนทรัพย์กลับคืนไปได้โดยไม่มีภาระหนี้ต่อกันอีก

ดังนั้น เมื่อลูกหนี้ผู้สุจริตได้วางเงินชำระหนี้ ณ สำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามสัญญาแล้ว ย่อมไม่สูญเสียทรัพย์สินของท่านซึ่งเอาเป็นประกันหนี้ไว้ เหล่าเจ้าหนี้ผู้มีจิตทุจริตคิดฮุบที่ดินหรือบ้านหลังงามของท่านไม่อาจได้สมดังใจหมายแน่นอน ส่วนผู้เช่ายังคงอยู่ในสถานที่เช่าได้เช่นเดิม สิ่งที่พึงระวังให้มากที่สุด คือ ระยะเวลาชำระหนี้ในสัญญา ส่วนสถานที่ชำระหนี้ กฎหมายได้ช่วยคลี่คลายปัญหาของลูกหนี้แล้ว ดังคำพูดที่ว่า กฎหมายคุ้มครองผู้สุจริตใจเสมอ

แหล่งที่มาดั้งเดิม: ${vars.title} แบ่งปันกับ ใบอนุญาต Creative Commons Attribution-ShareAlike 3.0

หมวดหมู่