กองดุริยางค์ทหารเรือ
ได้มีมาตั้งแต่ก่อนตั้งหน่วยทหารเรือเป็นกรมทหารเรือ โดยเริ่มมีขึ้นตั้งแต่การก่อตั้ง
“กรมทหารแตรมะรีน” เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2421
ในสมัยที่เรือพระที่นั่งเวสาตรีเข้ามาถึงใหม่ ๆ มี
ร้อยเอกฟุสโก (Captain M.
Fusco) เป็นครูและเป็นผู้บังคับบัญชา
มีหน้าที่สำหรับบรรเลงในงานเกียรติยศและสำหรับลงประจำเรือพระที่นั่ง
เวลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสทางทะเล ทั้งในอ่าวไทยและในต่างประเทศ เช่น
เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.
2440 ทางราชการได้จัดให้หน่วยดุริยางค์ภายใต้บังคับบัญชาของร้อยเอกฟุสโก
ลงประจำเรือพระที่นั่งมหาจักรีเดินทางไปยุโรปด้วย ซึ่งกรมทหารแตรมะรีนในขณะนั้น คือ
กองดุริยางค์ทหารเรือ ฐานทัพเรือกรุงเทพในปัจจุบัน
: ปี พ.ศ. 2421 ทางราชการได้สั่งซื้อเรือเวสาตรีเข้ามาเป็นเรือพระที่นั่ง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หลวงชลยุทธโยธินทร์
(Andre du Plesis de Richelieu) ซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกรมแสง
เป็นผู้บังคับการเรือพระที่นั่งเวสาตรีอีกตำแหน่งหนึ่ง ทหารที่ลงประจำเรือพระที่นั่งเวสาตรี
ก็เป็นทหารของกรมแสงทั้งหมด (กรมยุทธการทหารบก 2541:227)
: พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ครูทหารไทยที่ได้รับการฝึกจากอย่างฝรั่งมาแต่ครั้งรัชกาลที่
4 ชื่อครูเลิงเชิง นัยว่าเป็นญวน (ต่อมาเป็นขุนเจนกระบวนหัด)
ครูสอนทหารมหาดเล็กในพระองค์ไปเป็นครูทหารเรือ ให้คุมทหารเรือมีหน้าที่ประจำเรือพระที่นั่ง
และได้เป็นผู้คุมฝึกให้เกิดเป็นทหารแตรประจำเรือพระที่นั่งต่อมา สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ
ทรงคาดว่าครูเลิงเชิงเดิมมีเชื้อสายญวนหรือมอญ เมื่อย้ายไปเป็นทหารเรือ
หรือสมัยนั้นเรียกว่าทหารมารีน ต้องใช้แตรวงประจำเรือโดยเฉพาะเรือพระที่นั่ง
ก็มีครูแตรเป็นญวนอีกคนหนึ่งชื่อครูตั๊ง สอนได้ไม่นานก็ถึงแก่กรรม (พูนพิศ อมาตยกุล 2529 :-)
: บันทึกจากสาส์นสมเด็จ ซึ่งเป็นจดหมายโต้ตอบระหว่างสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระนริศรานุวัติวงศ์กับ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลงวันที่ 20
ตุลาคม พ.ศ. 2484 ได้กล่าวถึงเรือรบเทนเนสซี่ของทหารเรืออเมริกัน
ซึ่งเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีในสมัยรัชกาลที่ 5 ว่า “เรือเทนเนสซี่ที่เข้ามา
มีนายพลเรือชื่อเรโนลด์ควบคุมมา ได้ยกแตรวงจากเรือรบนี้ขึ้นมาบรรเลงให้คนไทยฟังที่กรุงเทพฯ
พระยาประภากรวงศ์ (ชาย บุญนาค) ขณะนั้นเป็นผู้บังคับการกรมทหารมารีนอยู่
ได้พบปะรู้จักกับครูแตรทหารอเมริกันจากเรือนี้ ชื่อ ฟุสโก (Fusco)
ชอบใจจึงชวนให้มารับราชการเป็นครูแตรทหารเรือแทนครูตั้งที่ถึงแก่กรรม” ร้อยเอกฟุสโก
เดิมเป็นชาวอิตาเลียน โอนสัญชาติเป็นอเมริกัน (สุกรี เจริญสุข วารสารเพลงดนตรี 2537:37)
: นอกจากจะปรากฏในสานส์สมเด็จแล้ว หนังสือสารบาญบัญชีกรมไปรษณีย์โทรเลข ซึ่งพิมพ์เมื่อ
พ.ศ. 2426 ก็ได้อ้างไว้เด่นชัดเช่นกันว่าเป็นกัปตันและมารับหน้าที่เป็นนายวงแตรทหารมารีน
(Captain M.Fusco, Band Master Royal Siamese Navy) แสดงว่าครูฟุสโก้ผู้นี้
เข้ามาอยู่เมืองไทยก่อนปี พ.ศ. 2426 แน่นอน สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงอธิบายต่อด้วยว่า
ครูฟุสโกนี้เดิมเป็นชาวอิตาเลียน แล้วโอนสัญชาติเป็นอเมริกัน มาเป็นทหารเรืออเมริกัน
แล้วจึงมาอยู่เมืองไทย เข้าใจว่าอยู่เมืองไทยระหว่าง พ.ศ. 2421-2445 จึงลาออกไป
ตลอดเวลาได้เป็นครูแตรทหารเรือ ดังนั้นทหารเรือจึงได้ชื่อ��่าเล่นเพลงฝรั่งเก่ง (พูนพิศ อมาตยกุล
กองดุริยางค์ทหารบก 2529)
: กองดุริยางค์ทหารเรือเริ่มมีในอัตรากำลังกองทัพเรือเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2448 มีชื่อว่า
“กองแตร” ขึ้นกับกรมทหารเรือฝ่ายบก มีนายเรือโทผู้ช่วย (เรือเอก)
หลวงพิมลเสนี (หลำ)
เป็นผู้บังคับกอง ขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์
กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารเรือ
นอกจากทรงเป็นนักปกครองที่ดีเลิศแล้ว
พระองค์ยังทรงนำความเจริญมาให้แก่กองทัพเรืออย่างมากมาย
และเนื่องจากทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารจากประเทศเยอรมัน
พระองค์ได้ทรงปรับปรุงกองทัพเรือไทยให้เหมาะสมกับกาลสมัย รวมทั้งกองแตรด้วย
พระองค์โปรดดนตรีมากโดยเฉพาะดนตรีไทย ทรงเล่นเครื่องมือได้แทบทุกชนิด
ส่วนดนตรีสากลทรงเล่นเปียโนได้และทรงเข้าพระทัยวิธีเคาะจังหวะเพลง
ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือก็ทรงสนพระทัยในแตรวงทหารเรือมาก ทรงพยายามให้
“กองแตร” เจริญและพัฒนาขึ้น ทรงกำหนดหลักสูตรการศึกษาวิชาการดนตรี เรียกว่า
“วิชาการแตร” ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2449
นับว่าแตรวงทหารเรือได้เจริญขึ้นอย่างมากสมดังพระประสงค์ของพระองค์ท่าน
: ในปี พ.ศ. 2453 ขณะตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เสด็จพระราชดำเนินไปเมืองเพชรบุรี พระองค์ได้นำทหารแตรรุ่นหนุ่มไป 4 นาย
เพื่อฝึกหัดเป่าแตรให้ชำนาญ หนึ่งในนั้นคือ ว่าที่เรือตรีสุทธิ์ ศรีชญา
ภายหลังย้ายไปเป็นครูแตรทหารบก รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น
พันตรีหลวงประสานดุริยางค์
นอกจากนั้นยังทรงหาแผ่นเสียงจากต่างประเทศมาให้หัดฟังเป็นแบบอย่าง
ทรงนิพนธ์เพลงไทยเขียนเป็นโน้ตสากลประทานให้ทหารแตรเป่าหลายเพลง เช่น
เพลงแขกมอญบางขุนพรหม ซึ่งนิพนธ์ขึ้นขณะตามเสด็จประพาสเพชรบุรีในครั้งนั้น โดยมี
ว่าที่เรือตรีสุทธิ์ ศรีชญา
เป็นผู้เป่าแตรคอร์เน็ต (Cornet) เพื่อตรวจสอบเพลงให้ถูกต้องขณะทรงนิพนธ์
นอกจากนี้ยังมีเพลงเขมรพวง 3 ชั้น เพลงเขมรชมจันทร์ ซึ่งทรงดัดเพลงจากเพลงไทยเดิม
คือเพลงบุหลันชกมวย 2 ชั้น
ซึ่งเป็นเพลงทำนองเพลงเขมรเพื่อประทานให้แตรวงทหารเรือเป่านำแถวทหารในการปฏิบัติราชการต่าง
ๆ เพลงสารถี 3 ชั้นทรงนิพนธ์ขึ้นเป็นทางเดี่ยวสำหรับแตรคอร์เน็ต
โดยตั้งพระทัยไว้ให้เฉพาะพันตรีหลวงประสานดุริยางค์ เป่าแตรคอร์เน็ตประจำแตรวงทหารเรือ
ซึ่งไม่มีผู้ใดเป่าได้ดีเท่า และยังมีอีกหลายเพลง เช่น เพลงสะบัดสะบิ้ง เพลงถอนสมอ
เพลงทยอยเขมร เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นการบรรเลงของแตรวงโดยเฉพาะ
คราวใดที่ต้องทรงงานหนักหรือมีอุปสรรคในพระดำริที่ยังไม่ชัดแจ้งแล้ว
ทรงแก้พระอารมณ์ขุ่นมัวโดยการเสด็จมาที่กองแตรวงเพื่อทรงฟังการฝึกซ้อมดนตรีในเวลาบ่าย
และบางคราวก็ทรงฝึกด้วยพระองค์เอง ครั้งหนึ่งมีครูดนตรีชาวเยอรมันชื่อ โปรเฟสเซอร์เซลิค
(Paul J. Seelig) (อนุรักษ์ บุญแจะ วงโยธวาทิตกองทัพเรือ 2539:37)
มาจากชวามาเที่ยวเมืองไทยก็ทรงนำมาช่วยแนะนำและเคาะจังหวะเพลงคุมทหารแตรเวลาเป่าให้ชำนาญยิ่งขึ้น
กองแตรวงทหารเรือในสมัยนั้นจึงมีชื่อเสียงมากกว่ากองแตรของที่อื่น ๆ
แม้แต่กองแตรวงทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ยังได้ขอนายทหารจากกองแตรวงทหารเรือไปเป็นผู้บังคับบัญชาแตรวง
: สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ ทรงพระนิพนธ์
เพลงวอลทซ์ประชุมพล
เป็นโน้ตสากลให้แตรวงทหารเรือบรรเลงและตั้งพระทัยให้เป็นเพลงประจำกรมทหารเรือ
ทรงดัดแปลงเพลงไทยเดิมชื่อเพลงแสนเสนาะ ให้เป็นทำนองเดี่ยว (Solo)
คอร์เน็ตชื่อเพลงสุดเสนาะ โดยมีพระประสงค์ให้ตรงกับชื่อ ว่าที่เรือตรีสุทธิ์ ศรีชญา
ซึ่งขณะนั้นเป็นนักเรียนแตรวงทหารเรือ
ทรงดัดแปลงเพลงอกทะเลหรือทะเลบ้าและเพลงคลื่นกระทบฝั่ง 2
ชั้นเป็นเพลงมาร์ชชื่อสาครลั่นสำหรับนำแถวทหารเรือเวลาเดิน
ยังมีอีกหลายเพลงที่ทรงดัดแปลงจากเพลงไทยเดิม แก้ไขเป็นโน้ตสากลสำหรับแตรวงบรรเลง เช่น
เพลงนางครวญ 3 ชั้น เพลงวอลทซ์เมขลา และเพลงมณฑาทอง เป็นต้น
: อนุรักษ์ บุญแจะ กล่าวไว้ใน วงโยธวาทิตกองทัพเรือ (2539:39) ว่า เมื่อ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
ทรงว่างราชการมักเสด็จไปคุมแตรวงทหารให้ฝึกซ้อมเพลงฝรั่ง วงดุริยางค์ราชนาวีนั้น
ทรงเคี่ยวเข็ญมากที่สุดเป็นอันดับแรก
มีนายทหารสองนายที่ทรงเคี่ยวเข็ญมากจนสามารถบรรเลงเพลงได้ดี คือ เรือตรีสุทธิ์ ศรีชญา
(ต่อมาเป็น พันตรีหลวงประสานดุริยางค์)
ทรงเคี่ยวให้เป่าแตรคอร์เนทจนได้ชื่อว่าเป็นนักเป่าแตรคอร์เนทที่ดีที่สุดของกองทัพเรือ
อีกนายมียศจ่าชื่อเคี้ยง เป่าปี่โอโบ
ทรงเคี่ยวเข็ญจนเป่าได้ชัดถ้อยชัดคำเหมือนคำพูดถึงกับได้ประทานนามสกุลให้ว่าโอบายวาท แปลว่า
เป่าปี่โอโบได้ชัดเหมือนคำพูด
: ประเทศไทยในสมัยนั้นมีแตรวงของทหารเรือและทหารบกเท่านั้น
ของเอกชนคงมีแต่พิณพาทย์กับมโหรี แตรวงทหารเรือเก่งเพลงฝรั่งเพราะครูเป็นฝรั่ง
แตรวงทหารบกเก่งเพลงไทยเพราะครูเป็นคนไทย ตอนบ่ายเวลาสี่โมงครึ่งจนถึงเวลาธงลง
แตรวงทหารเรือตั้งวงบรรเลงหน้ากรมทหารเรือ
แตรวงทหารบกตั้งวงบรรเลงหน้ากระทรวงกลาโหม พอถึงเวลาเลิกงาน
ข้าราชการและประชาชนที่ต้องการฟังเพลงไทยก็ไปฟังแตรวงทหารบก
คนที่ต้องการฟังเพลงฝรั่งก็ไปฟังแตรวงทหารเรือ
เวลาบรรเลงแข่งขันกันถ้าเป็นเพลงฝรั่งทหารเรือก็ชนะ
หากเป็นเพลงไทยทหารบกจะชนะเป็นอย่างนี้ทุกคราวไป
: พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสพักแรมที่พระราชวังบางปะอิน
เจ้าหน้าที่ทุกเหล่าพร้อมทั้งแตรวงทหารบกและแตรวงทหารเรือตามเสด็จด้วย วันหนึ่ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสำราญพระราชหฤทัย
มีรับสั่งให้แตรวงของทหารบกและทหารเรือบรรเลงแข่งขันกัน
ตั้งวงใกล้กันริมสระน้ำพระราชวังบางปะอิน บรรเลงสลับกันตั้งแต่ 4 โมงเย็นจนถึงย่ำค่ำ
ถึงเพลงชิงรางวัลให้ทหารบกบรรเลงก่อน บรรเลงไปได้ระยะหนึ่ง ร้อยเอกฟุสโก้
ครูแตรวงทหารเรือก็ควักมะนาวมาจากกระเป๋าเสื้อ 1 ลูกผ่าเป็น 2
ชิ้นจิ้มเกลือคลุกน้ำตาลรับประทานต่อหน้าแตรวงทหารบก ทำปากแบบเปรี้ยวจี๊ดจ๊าด
แตรวงทหารบกเห็นเข้าก็น้ำลายไหลเข้าท่อลมเสียงฟ่อดแฟ่ด
ถึงคราวแตรวงทหารเรือบรรเลงก็ไพเราะชัดเจนน่าฟัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสรวล
รับสั่งว่าทหารเรือเก่งมากให้เป็นที่ 1 พระราชทานรางวัลผ้าห่มขนหนูคนละผืนและเงินคนละ 3
ตำลึง (12 บาท)
: ปี พ.ศ. 2478 กองแตรเปลี่ยนชื่อเป็น “หมวดดุริยางค์ทหารเรือ”
ขึ้นการบังคับบัญชากับสถานีทหารเรือกรุงเทพ มีการขยายอัตรากำลังพลเพิ่มขึ้น
แบ่งส่วนราชการออกเป็น 2 ส่วน คือ แผนกแตรวง และแผนกซอฝรั่ง จนถึงปี พ.ศ. 2486
ได้ขยายหน่วยใหญ่ขึ้นและเรียกชื่อใหม่เป็น “กองดุริยางค์ทหารเรือ” ในปี พ.ศ. 2522
กองดุริยางค์ทหารเรือได้ขึ้นการบังคับบัญชาต่อฐานทัพเรือกรุงเทพ จนถึงปัจจุบัน
:
กองดุริยางค์ทหารเรือได้พัฒนาปรับปรุงให้เจริญก้าวหน้าตลอดเวลาทั้งในด้านองค์บุคคลและองค์วัตถุ
ได้จัดตั้งโรงเรียนดุริยางค์ทหารเรือ
ขึ้นในปี พ.ศ. 2500
เพื่อรับบุคคลพลเรือนเข้ามารับการฝึกหัดเป็นนักดนตรีทหารเรือโดยรับเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาเพื่อศึกษาในแบบเรียนและฝึกประจำอยู่กับวงดนตรี
ควบคู่ไปกับนักดนตรีรุ่นพี่ในวงดนตรี เรียกว่า “พลอาสาสมัคร”
ยังมิได้จัดขึ้นเรียนเหมือนโรงเรียนในปัจจุบัน จนกระทั่งปี พ.ศ. 2502 เรือเอกสำเร็จ นิยมเดช
ได้จัดหลักสูตรการศึกษา แบ่งการศึกษาออกเป็นชั้นเรียน
และได้รับอนุมัติหลักสูตรสำหรับการฝึกและการศึกษาของนักเรียนดุริยางค์
เริ่มรับบุคคลพลเรือนเข้ามาเป็นนักเรียนดุริยางค์ในปีการศึกษา 2504
ปัจจุบันผู้ที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตร 6 ปี จะได้รับวุฒิการศึกษาเทียบเท่าประกาศนียบัตรวิชาชีพ
(ปวช.)
: กิจการดนตรีของกองดุริยางค์ทหารเรือ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมาเป็นเวลานาน
เป็นที่กล่าวถึงอรรถรส ความไพเราะด้านการบรรเลง ความสวยงามในการแต่งกาย
จนได้รับความไว้วางใจให้เป็นดนตรีบรรเลงในงานพระราชพิธี รัฐพิธี และพิธีการต่าง ๆ เช่น
งานเลี้ยงรับรองพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว งานของสถานทูตประเทศต่าง
ๆ งานพระราชทานเพลิงศพ
และมีการบรรเลงเพื่อประชาชนในการปฏิบัติการจิตวิทยาและกล่อมขวัญทหารทั่วประเทศ
: วงดุริยางค์ราชนาวี
ซึ่งถือกำเนิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 มีการพัฒนาการเล่นดนตรีในแบบเพลงคลาสสิก หรือวง
“ออร์เคสตร้า” ในสมัย นาวาเอกสำเร็จ นิยมเดช เป็นหัวหน้ากองดุริยางค์ทหารเรือ
ได้นำวงดุริยางค์ราชนาวีเปิดการแสดงคอนเสิร์ตเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2502 ใช้ชื่อว่า
“ออร์เคสตร้า คอนเสิร์ต” ครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2503 ใช้ชื่อว่า “ราชนาวีคอนเสิร์ต”
ได้จัดอีกครั้งในปีเดียวกันเพื่อหารายได้สมทบทุน
“มูลนิธิอนันทมหิดล ” และในปี พ.ศ. 2504
สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงมีประราชปรารภกับผู้บัญชาการทหารเรือ
ให้จัดแสดงดนตรีเพื่อหารายได้บำรุงสภากาชาดไทย
กองทัพเรือได้จัดแสดงตามพระราชประสงค์เรียกว่า
“กาชาดคอนเสิร์ต ”
ตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน
: วงดุริยางค์ทหารเรือ
เป็นผู้นำในการพัฒนาเพลงไทยสากลและเป็นผู้ให้กำเนิดเพลงไทยสากลหลายเพลง
ได้นำเพลงไทยมาบรรเลงด้วยวงดนตรีสากล และใช้โน้ตสากลในการบรรเลงเป็นวงแรก
ต่อมาได้แปลงเป็นเพลงในแบบ “สังคีตประยุกต์” และได้พัฒนาเป็นเพลง “สังคีตสัมพันธ์”
หรือการนำเครื่องดนตรีไทยมาบรรเลงร่วมกับเครื่องดนตรีสากล ในสมัย พลโท หม่อมหลวงขาบ
กุญชร เป็นอธิบดีกรมโฆษณาการ นอกจากเป็นผู้นำในการบรรเลงเพลงไทยสากลแล้ว
ยังเป็นวงดนตรีที่บรรเลงเพลงมาร์ชของไทยด้วย เช่น เพลงมาร์ชบริพัตร เดินหน้า และดอกประดู่
เป็นต้น
: ในปี พ.ศ. 2475 วงดุริยางค์ทหารเรือ เป็นผู้บรรเลงเพลงชาติไ���ยเป็นครั้งแรก
ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม และในปี พ.ศ. 2533
คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติได้มอบหมายให้วงดุริยางค์ทหารเรือบรรเลงเพลงชาติ
และเพลงสรรเสริญพระบารมี เพื่อเผยแพร่ทางสื่อต่าง ๆ
: วงดุริยางค์ราชนาวีได้เข้าถวายการบรรเลงเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ในวันที่ 11
สิงหาคม พ.ศ. 2537 พระราชดำรัสตอนหนึ่งของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ที่ทรงมีต่อพสกนิกร ทั้งทหาร ตำรวจ พลเรือน และประชาชนที่เข้าเฝ้าถวายพระพร
ซึ่งเป็นความภูมิใจและเป็นเกียรติภูมิที่วงดุริยางค์ราชนาวีรับเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ความว่า
: “ขอแถมอีกนิดหนึ่ง วงดนตรีทหารเรือเล่นเพลงสรรเสริญฯ เพราะเหลือเกิน แล้วก็ขอแถมว่า
เสด็จฯ ไปไหนทั่วโลก สมัยเมื่อ 20 ปีมาแล้วก็มีเพลงสรรเสริญพระบารมีโดยต่างชาติเล่น
ทุกแห่งทุกคนบอกเพลงสรรเสริญพระบารมีของไทยนี่เพราะเหลือเกิน เราไม่ได้ไปถามเลย
เขาบอกว่า แหม! เพลงสรรเสริญฯ ของเมืองไทยนี่เพราะเหลือเกิน เศร้า ๆ แต่มีความสง่า
เยือกเย็น เขาว่าอย่างนั้น ก็เลยมาคุยต่อ ขอบคุณค่ะ”
: สิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจอีกประการ คือ การที่ข้าราชการของกองดุริยางค์ทหารเรือ
ผู้ที่มีผลงานร่วมกับกองดุริยางค์ทหารเรือและวงดุริยางค์ราชนาวีได้รับการคัดเลือกเป็น
“ศิลปินแห่งชาติ” คือ
: 1.นาวาตรีพยงค์
มุกดา
สาขาศิลปะการแสดง (เพลงลูกทุ่ง - เพลงไทยสากล) ในปีพ.ศ. 2534
: 2.พลเรือตรี หม่อมหลวงอัศนี
ปราโมช
องคมนตรี สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) ในปี พ.ศ. 2537
: 3.นาวาตรีปิยะพันธ์
สนิทวงศ์
สาขาศิลปะการแสดง (นักดนตรีสากล) ในปี พ.ศ. 2541
: 4.พลเรือตรีวีระพันธ์
วอกลาง
สาขา (ดนตรีสากล) ในปี พ.ศ. 2551
: กองดุริยางค์ทหารเรือ ตั้งอยู่เลขที่ 2 ถนนอิสรภาพ แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย
กรุงเทพมหานคร 10700 โทรศัพท์ 0-2475-5633
: กองดุริยางค์ทหารเรือ มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับกิจการดุริยางค์ การศึกษา
และฝึกอบรมแก่ทหารเหล่าดุริยางค์ เหล่าสัญญาณแตรเดี่ยว และนักเรียนดุริยางค์
ตลอดจนกำกับดูแลเกี่ยวกับการดุริยางค์ โดยมีผู้บังคับกองดุริยางค์ทหารเรือเป็นผู้รับผิดชอบ
: กองดุริยางค์ทหารเรือ เป็นหน่วยขึ้นตรงต่อฐานทัพเรือกรุงเทพ แบ่งส่วนราชการออกเป็น 5
ส่วน ดังนี้
: 1.แผนกธุรการ มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการธุรการ การสารบรรณ การกำลังพล
และการเงิน
: 2.แผนกวิชาการ มีหน้าที่ดำเนินการประพันธ์เพลง เรียบเรียง ปรับปรุง และรวบรวม
ตลอดจนเก็บรักษาโน้ตเพลงที่ใช้ในการบรรเลง วิจัยและพัฒนากิจการดุริยางค์ ประมวล ปรับปรุง
ผลิตตำรา คู่มือ โน้ตเพลงที่ใช้ในการศึกษาและฝึกอบรม
ตลอดจนกิจการห้องสมุดที่เกี่ยวกับวิชาการดนตรี
: 3.แผนกดนตรี มีหน้าที่ในการบรรเลงดนตรีในงานต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย จัดทำสถิติ
และปรับปรุงการบรรเลงให้ได้ระดับมาตรฐาน
: 4.แผนกสนับสนุน มีหน้าที่ให้การสนับสนุนในด้านกิจการพลาธิการ และการดนตรี
: 5.โรงเรียนดุริยางค์ มีหน้าที่ให้การศึกษา และฝึกอบรมแก่ทหารเหล่าดุริยางค์
เหล่าสัญญาณแตรเดี่ยว และนักเรียนดุริยางค์
ข้อมูลจาก 126 ปี ดุริยางค์ทหารเรือ สืบสานตำนานดนตรีแห่งราชนาวีไทย
ข้อมูลจาก ประวัติกองทัพเรือ กองโรงพิมพ์ กรมสารบรรณทหารเรือ 2541\
แหล่งที่มาดั้งเดิม: ${vars.title} แบ่งปันกับ ใบอนุญาต Creative Commons Attribution-ShareAlike 3.0
Ne Demek sitesindeki bilgiler kullanıcılar vasıtasıyla veya otomatik oluşturulmuştur. Buradaki bilgilerin doğru olduğu garanti edilmez. Düzeltilmesi gereken bilgi olduğunu düşünüyorsanız bizimle iletişime geçiniz. Her türlü görüş, destek ve önerileriniz için iletisim@nedemek.page