ทมะ คืออะไร

ทมะ

ทมะ แปลว่า การรู้จักข่มจิตข่มใจตนเอง ทมะ หมายถึง ความรักในการฝึกฝนตนเอง ความกระตือรือร้นในการเคี่ยวเข็ญฝึกฝนตนเอง อย่างไม่มีข้อแม้เงื่อนไข เพื่อให้ตนเองมีทั้งความรู้ ความสามารถ และความดีเพิ่มพูนมากขึ้นทุกวัน เกิดเป็นคนต้องหมั่นปรับปรุงตนเองอยู่เรื่อยไป อย่าอยู่กับที่ ขณะที่คนอื่นเขาวิ่งบ้าง เดินบ้าง แม้ที่สุดกำลังคลานอยู่ ถ้าเรามัวนอนหลับ ก็เท่ากับเรากำลังถอยหลัง เรื่องฝึกตัวเป็นสิ่งสำคัญ ใครที่มีผู้ใต้บังคับบัญชามาก ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร ข้าราชการ พ่อค้าอะไรก็ตาม หากไม่ฝึกตัว ไปไม่รอด นอกจากต้องฝึกทางด้านวิชาการตลอดแล้ว ยังต้องฝึกแก้นิสัยใจคอตัวเองอีกด้วย ฝึกแก้นิสัยตัวเองคือ ฝึกตัวด้านคุณธรรมนั่นเอง เพราะการที่เราฝึกแก้นิสัยที่ไม่ดีของตนเอง จะทำให้เรามีความพร้อมที่จะยอมรับการอบรมสั่งสอน จากคนอื่นๆ ซึ่งจะเป็นทางมาแห่งปัญญาที่สำคัญ ทมะ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ

  1. ทันต่อกิเลส หมายถึง รู้เท่าทันกิเลสภายในตัวของเรา รู้ว่าอะไร คือสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิต อะไรคือสิ่งฟุ่มเฟือย สิ่งไร้สาระ ไม่เกิดประโยชน์ เพราะการที่เราทันต่อกิเลสนั้น เราจะรู้จักยับยั้งไม่ให้หลงไปกระทำในสิ่งที่ไม่ดี
  2. ทันคน หมายถึง รู้เท่าทันคนที่เราต้องติดต่อ คบค้าสมาคม เพื่อรู้เท่าทันความคิดของเขาว่า จะส่งผลดีหรือไม่ดีต่อตัวของเราหรือหน้าที่การงานของเราอย่างไร
  3. ทันโลก หมายถึง รู้เท่าทันโลก รู้ว่าโลกนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด และเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เพื่อที่เราจะสามารถปรับตัวได้ทัน
  4. ทันธรรมชาติ หมายถึง รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสภาพดินฟ้าอากาศในแต่ละฤดูกาล ทั้งนี้เพื่อจะได้ดูแลสุขภาพได้อย่างเหมาะสม และวางแผนการทำงานให้เหมาะสมกับสภาพอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นในแต่ละฤดูกาลด้วย

ทันโลก สามารถแบ่งได้เป็น 4 เรื่อง

  1. ทันสถานการณ์ ในที่นี้เพื่อให้เรารู้ว่าสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะกระทบกับเราในด้านที่เป็นโอกาส หรือวิกฤต เพื่อที่เราจะสามารถหาวิธีการรับมือได้ทัน
  2. ทันเทคโนโลยี การทันต่อเทคโนโลยี จะช่วยพัฒนาขีดความรู้ความสามารถของคนให้ก้าวหน้า ก้าวไกล สะดวกรวดเร็วมากกว่า ในแง่การค้าสามารถลดต้นทุนในการผลิต หรือการค้า และสร้างโอกาสที่ดีกว่าในการแข่งขันในทางธุรกิจ
  3. ทันกฎหมาย ทันต่อกฎหมายจะทำให้เรารู้ว่าเรามีข้อจำกัดอย่างไร อะไรต้องปฏิบัติ และอะไรที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
  4. ทันวัฒนธรรมประเพณี การที่เรารู้ว่าท้องถิ่นแต่ละแห่งมีประเพณีและวัฒนธรรมอย่างไรนั้น เราจะสามารถรู้ว่า ท้องถิ่นนั้นๆ ต้องการอะไร และสิ่งไหนที่เขาสามารถยอมรับได้หรือไม่ได้ เพื่อเราจะได้รู้ว่าขอบเขตจำกัดของเราในการทำงานนั้นอยู่ที่ตรงไหน

หลักการฝึกฝนตนเอง

วิธีที่จะเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ และความดีในเรื่องใดๆ ก็ตาม มีแนวทางการปฏิบัติอยู่ 4 ขั้นตอน คือ

  1. ต้องหาครูดีให้เจอ คือ การที่เราสนใจในเรื่องใดๆ ที่จะเพิ่มพูนความรู้ให้กับตนเองก็ตาม ผู้นั้นจะต้องหาคนที่มีความรู้ความสามารถในด้านนั้นๆ มาเป็นครูให้ได้ก่อน ไม่เช่นนั้นแล้วโอกาสที่จะประสบความล้มเหลวก็มีมาก เช่นกัน
  2. ต้องฟังคำครู คือ ต้องตั้งใจฟัง และเมื่อสงสัยก็ซักถามทันที จนกระทั่งจับประเด็นให้ได้ว่าสิ่งที่ครูสอนในเรื่องนั้นๆ มีหลักการ วิธีการอย่างไรบ้าง อย่างชัดเจนเพื่อจะได้ไม่ผิดพลาดเวลานำไปปฏิบัติ
  3. ต้องตรองค��ครู คือ นำประเด็นที่ครูอธิบายมาพิจารณาหาเหตุผลในทุกๆ ด้าน ทั้งในด้านของความสำคัญ วิธีการใช้งาน ข้อควรระวัง ตลอดจนผลได้ผลเสียที่จะตามมาในภายหลัง ให้ชัดเจนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
  4. ต้องทำตามคำครู คือ เมื่อพิจารณาคำครูชัดเจนดีแล้ว ว่าทำอย่างถูกต้องและเหมาะสมนั้นทำอย่างไร แล้วก็ลงมือปฏิบัติด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง ทำอย่างมีสติ เพื่อที่จะไม่ประมาทพลั้งเผลอ จนอาจเกิดความเสียหายตามมาภายหลังได้

การฝึกเพื่อแก้นิสัย

การแก้นิสัยไม่ดีแต่ละอย่าง ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ ต้องพยายามแก้ ส่วนจะแก้ได้มากหรือได้น้อยแค่ไหนก็ต้องพยายามแก้กันเรื่อยไป พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อครั้งบำเพ็ญบารมีในพระชาติต้นๆ ความรู้ความประพฤติของพระองค์ก็ไม่สมบูรณ์เช่นคนทั้งหลาย จึงต้องล้มลุกคลุกคลานไปบ้าง บางชาติเกิดเป็นสัตว์ บางชาติเกิดเป็นคน เป็นคนยากจนก็มี เป็นกษัตริย์ก็มี บางชาติเป็นนักปราชญ์ แต่จะล้มลุกคลุกคลานอย่างไร พระองค์ก็พยายามฝึกตัวอยู่ตลอดเวลา สังเกตได้จากชาดกเรื่องต่างๆ เราประกาศตัวเป็นชาวพุทธ เท่ากับประกาศว่าเป็นลูกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงมีหน้าที่ต้องฝึกตนตามพระองค์ รู้ว่านิสัยอะไรไม่ดีก็รีบแก้เสีย ฝืนใจให้ได้ ฝืนใจอยู่บ่อยๆ ทำ ซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่ช้าก็คุ้นกับความดี

ศีลธรรมต้องนำหน้าความรู้ ปัญหาที่เกิดขึ้นในที่ทำงานหลายแห่งคือ คนส่วนใหญ่มักไม่ฝึกฝน ปรับปรุงตัวเองโดยเฉพาะความประพฤติ บางคนปรับปรุงเฉพาะความรู้ ซึ่งความรู้ทางโลก เป็นความรู้ที่สามารถเรียนรู้ ทันกันได้โดยใช้เวลาไม่นาน และถ้าหากมีความรู้แล้วแต่ไม่รู้จักการฝึกฝนตนเอง ก็ยากที่จะเจริญก้าวหน้าได้ ทางที่ถูกที่ควร คือ เมื่อด้านวิชาการก้าวหน้าอยู่ตลอด ตัวเราก็ต้องพยายามค้นคว้าเพิ่มเติมมากหรือน้อยก็ให้ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ พร้อมกันนั้นก็รีบปรับปรุงคุณธรรมในตัวเราเสียแต่เนิ่นๆ พอถึงเวลาแล้ว เราต้องอาศัยคุณธรรมเป็นแนวทาง ในเรื่องการถนอมน้ำใจคน เรื่องการเข้าสังคม เรื่องการติดต่อกับผู้ใหญ่ และอีกหลายสิ่งหลายอย่าง แต่ถ้าขาดคุณธรรม ย่อมเกิดปัญหาตามมามากมาย เช่น การเล่นพรรคเล่นพวก ปัดแข้งปัดขา ก่อเวร ต่างคนต่างมีจิตใจขุ่นมัว แล้วในที่สุด ก็ไม่สามารถสร้างตัวได้ ดังนั้นควรตั้งใจฝึกคุณธรรมดีที่สุด คุณธรรมที่ต้องฝึก ก็คือ ความไม่ลำเอียง ถ้าลำเอียงแล้ววินิจฉัยจะเสียตาม บางคนลำเอียงแม้เรื่องเล็กๆ เช่น สุนัขบ้านเราไปกัดแพ้สุนัขข้างบ้าน แค่นั้นและชักเคืองแทนสุนัขขึ้นมาทีเดียว คือ เอาหัวใจไปผูกกับสุนัข บางคนเรื่องเล็กไม่ลำเอียง แต่ลำเอียงเรื่องใหญ่ พอลูกตัวเองไปเล่นกับลูกชาวบ้าน เกิดทุบตีกันขึ้น ไม่ได้ถามเลยว่า ลูกตัวไปรังแกเขาก่อนหรือไปทำอะไรมา เข้าข้างลูกตัวเองทันที จะไปเล่นงานลูกชาวบ้านอย่างนี้ก็มี เรื่องความลำเอียงนี้ บางทีแก้กันชั่วชีวิตกว่าจะหาย เพราะฉะนั้นต้องฝึกเป็นคนไม่ลำเอียงให้ได้ การฝึกเช่นนี้ เน้นการนั่งสมาธิมากๆ ให้ใจละเอียดอ่อน แล้วจะไม่ลำเอียง ไม่มีอคติกับใคร แล้วเราจะไม่มีปัญหากับใคร และจะเจริญก้าวหน้าได้ในที่สุด

กล่าวโดยสรุป ทมะ คือ การฝึกปรับปรุงตัวเองเรื่อยไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านคุณธรรม ซึ่งนอกจากจะทำให้การทำงานดีขึ้นแล้ว ยังทำให้ไม่มีเวรมีภัยกับใคร สามารถยับยั้งตัวเองได้สร้างเนื้อสร้างตัวได้มั่นคง

แหล่งที่มาดั้งเดิม: ${vars.title} แบ่งปันกับ ใบอนุญาต Creative Commons Attribution-ShareAlike 3.0

หมวดหมู่