ท่าทอง คืออะไร

เมืองท่าทอง หรือ อำเภอกาญจนดิษฐ์ในปัจจุบัน ตั้งขึ้นเมื่อใดไม่มีหลักฐานบันทึกไว้แน่นอน แต่มีสถานที่ที่สอดคล้องกับตำนานและพงศาวดารอยู่หลายแห่งซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกให้เห็นว่า บริเวณเหล่านี้เคยเป็นชุมชนระดับเมืองมาตั้งแต่สมัยศรีวิชัยเป็นอย่างน้อย ในระหว่างที่เมืองหลวงของอาณาจักรนี้ตั้งอยู่ที่ไชยา เรื่องกรุงศรีวิชัยนั้นนายธรรมทาส พานิช กล่าวในพนมทราวดีศรีวิชัยว่า จารึกกรุงศรีวิชัยที่ทำขึ้นใน พ.ศ. 1318 พบที่ไชยา กรุงศรีวิชัยก็ต้องตั้งที่ไชยาในราว พ.ศ. 1200- 1350 หลังจากนั้นก็ย้ายจากไชยาไปอยู่ที่ตามพรลิงก์นครศรีธรรมราช

ประวัติ

บริเวณลุ่มน้ำท่าทอง ได้รับเอาศิลปวัฒนธรรมศรีวิชัย จากเมืองไชยาซึ่งอยู่ฝั่งอ่าวตรงกันข้าม มาพัฒนาท้องถิ่นของตนโดยสร้างพุทธสถานสำคัญขึ้นเป็นแห่งแรก ที่ถ้ำวัดเขาพระนิ่มชาวลุ่มน้ำท่าทองได้สละกำลังกายกำลังทรัพย์สร้างพระพุทธรูปเป็นพระประธานเป็นพระนอนหุ้มด้วยทองคำตลอดทั้งองค์ จึงเรียกว่า พระทอง และเรียกเขานี้ว่าเขาพระทอง ถ้ำพระทอง ต่อมาได้ทำถนนจากพุทธสถานเขาพระทองไปยังท่าน้ำชายฝั่งคลองเพื่อให้ผู้เดินทางทางเรือได้จอดเรือและได้เดินทางไปยังพุทธสถานได้สะดวกขึ้น จึงเรียกท่าน้ำตรงถนนนี้ว่าท่าเขาพระทองและเรียกบ้านบริเวณนี้ว่าบ้านท่าเขาพระทองต่อมาเรียกว่าบ้านท่าพระทองและเรียกสั้นลงอีกว่าบ้านท่าทอง พุทธสถานเขาพระทองเป็นสิ่งจูงใจให้ชาวลุ่มน้ำท่าทองและบริเวณใกล้เคียงเดินทางมาสักการบูชาพระทองอยู่เป็นประจำ ทำให้เจริญรุ่งเรืองมาก ประมาณ พ.ศ. 1340 กรุงศรีวิชัยจึงยกบ้านท่าทองให้เป็นเมือง ปกครองบริเวณลุ่มน้ำท่าทองและท้องที่ใกล้เคียง ขึ้นตรงต่อกรุงศรีวิชัยที่ไชยา ครั้น พ.ศ. 1350 เมืองหลวงของศรีวิชัยย้ายไปนครศรีธรรมราชเมืองท่าทองก็ขึ้นตรงกับนครศรีธรรมราชตั้งแต่นั้นมา โบราณวัตถุอีกอย่างหนึ่งที่พบบริเวณลุ่มน้ำท่าทองคือ พระพิมพ์ดินดิบที่พบที่ถ้ำเขาหลีกที่ทุ่งเขน สิ่งเหล่านี้ล้วนชี้ให้เห็นว่าบริเวณลุ่มน้ำท่าทองเป็นชุมชนที่เจริญด้วยศิลปวัฒนธรรมระดับเมืองมาตั้งแต่ศรีวิชัย เมืองท่าทองตั้งที่เขาพระทองประมาณ 200 ปี

เมืองบันไทยสมอ

สันนิษฐานว่าผู้สร้างคือชาวขอม บันไทยสมอเป็นภาษาขอม แปลว่ากำแพงหินหรือค่ายหิน ป้อมหิน ในสมัยพระเจ้ายโศวรมันหรือพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ เป็นกษัตริย์ขอม ระหว่าง พ.ศ. 1432-1453 เป็นผู้มีเดชานุภาพมากขยายอาณาจักรได้อย่างกว้างขวาง พระเจ้าศรีธรรมโศกราชแห่งนครศรีธรรมราช มีเชื้อสายเดียวกับพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์คือวงศ์ไศเลนทร์ จึงมีชาวขอมกลุ่มหนึ่งมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่คลองท่าทองบริเวณเขาเทวดาในปัจจุบัน ประมาณปี พ.ศ. 1550 พระเจ้าศรีธรรมโศกราช ได้ตั้งให้หัวหน้าหมู่บ้านบันไทยสมอเป็นเจ้าเมืองท่าทองโดยตั้งเมืองที่บ้านบันไทยสมอ

ประมาณปี พ.ศ. 1720 พระเจ้าศรีธรรมโศกราชได้คัดเลือกเมืองขึ้นสำคัญๆ 12 เมืองเรียกว่าเมือง 12 นักษัตร คือ 1 เมืองสาย ปีชวดถือตราหนู 2 เมืองตานี ปีฉลูถือตราวัว 3 เมืองกลันตัน ปีขาล ถือตราเสือ 4 เมืองปะหัง ปีเถาะถือตรากระต่าย 5 เมืองไทรปีมะโรงถือตรางูใหญ่ 6 เมืองพัทลุง ปีมะเส็ง ถือตรางูเล็ก 7 เมืองตรัง ปีมะเมีย ถือตราม้า 8 เมืองชุมพร ปีมะแม ถือตราแพะ 9 เมืองบันไทยสมอ ปีวอกถือตราลิง 10 เมืองสะอุเลา ปีระกา ถือตราไก่ 11 เมืองตกกัวลาง ปีจอ ถือตราสุนัข และ 12 เมืองกระปีกุน ถือตราหมู

เมื่อพระเจ้าศรีธรรมโศกราชได้ตั้งให้หัวหน้าหมู่บ้านบันไทยสมอเป็นเจ้าเมืองท่าทอง แต่หัวหน้าหมู่บ้านไม่ไปตั้งเมืองที่เขาพระทอ���ใช้บ้านของตนที่บันไทยสมอเป็นที่ตั้งเมืองและให้ชื่อเมืองบันไทยสมอเจ้าเมืองนับถือศาสนาพราหมณ์และพระนารายณ์ จึงเอาตราลิงเป็นตราประจำเมืองเพราะลิงเป็นพวกเจ้าพ่อหนุมานทหารเอกของพระรามคราวพระนารายณ์อวตารมาปราบยักษ์ มีเทวสถานพระวิษณุ ณ เขาเทวดาเป็นที่สักการบูชาตามลัทธิของศาสนา เมืองบันไทยสมอตั้งอยู่ทีเขาเทวดาประมาณ 180 ปี

ในปี พ.ศ. 1626 (กล่าวตามแถลงการณ์ประวัติศาสตร์ เอกสารโบราณคดี ปี 12) ท้าวอู่ทองกษัตริย์แคว้นอโยธยายกทัพมารุกรานเมืองนครศรีธรรมราช พระเจ้าศรีธรรมโศกราชได้จัดกองทัพไปตั้งรับที่บางสะพาน โดยเกณฑ์คนจากเมืองบันไทยสมอไปด้วย ชาวเมืองที่อยู่ข้างหลังห่วงว่าการศึกครั้งนี้ถ้าแพ้กลัวศัตรูจะขูดลอกเอาทองจากองค์พระทำให้เกิดชำรุดเสียหาย จึงช่วยกันเอาปูนมาพอกปิดไว้แล้วแต่งให้เป็นพระปูนธรรมดา แต่การศึกครั้งนั้นได้เจรจาสงบศึกได้ ต่อมาประมาณ พ.ศ. 1730 มีคนต่างถิ่นมาเป็นเจ้าเมืองแต่ไม่ตั้งเมืองที่เขาเทวดา แต่ไปตั้งเมืองที่เขาพระทองอันเป็นที่ตั้งเมืองมาก่อนเมืองบันไทยสมอที่เขาเทวดาจึงร้างไป เจ้าเมืองคนใหม่ได้ทำการบูรณะฟื้นฟูพุทธสถานเขาพระทองอีกครั้งหนึ่ง เมืองท่าทองครั้งนี้ตั้งอยู่ได้ประมาณ 70 ปี

ต่อมาประมาณ พ.ศ. 1820 กษัตริย์เพชรบุรีส่งพระพนมวังมาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ได้ให้โอรสคือเจ้ากุมารมาตั้งบ้านเรือนที่ตำบลดำถะหมอและให้เจ้าศรีราชาผู้พี่ไปอยู่ที่เมืองสะอุเลา ตำบลดำถะหมอคือบริเวณเมืองบันไทยสมอเก่าบริเวณเขาเทวดานั่นเอง เวลานั้นค่ายหินที่สร้างมาตั้งแต่ครั้งชาวขอมมาตั้งอยู่ หินที่วางซ้อนพิงกันเป็นค่ายไม่มีปูนเชื่อมก็พังทลาย กระจัดกระจายเป็นหินสีดำๆจึงเรียกบริเวณนี้ว่าตำบลดำถะหมอหรือตำบลหินดำ พื้นที่ที่ติดต่อออกไปทางทะเลเป็นแหลมใหญ่ยาวเรียกแหลมดำถะหมอหรือแหลมกรุงหมอ แต่ชาวท่าทองเรียกแหลมตำหมอ ตัวเมืองเขาพระทองจึงร้างอีกครั้งหนึ่ง

ประมาณ พ.ศ. 1840 พระพนมวังถึงแก่อสัญกรรมเจ้าราชาผู้พี่จึงเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชแทนบิดามีนามว่า พระศรีธรรมโศกราชสุรินทรราชาสุรวงศ์ธิบดีศรียุธิษเสถียร อภัยพิริยปรากรมพาหุ เจ้าพระยานครศรีธรรมราชมหานคร ส่วนเจ้ากุมารผู้น้องเจ้าเมืองบันไทยสมอได้รับแต่งตั้งเป็นขุนไชยกุมาร เมืองบันทายสมอตั้งอยู่ที่เขาเทวดาประมาณ 80ปี ก็ร้างไป ครั้นเมืองนครศรีธรรมราชไปขึ้นตรงกับกรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นเมืองหลวงทางกรุงศรีอยุธยาจึงได้ส่งหลวงศรีวรวงษ์มาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชจึงได้ตั้งคนไปเป็นเจ้าเมืองบันไทยสมอ ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองไม่ตั้งบ้านที่เขาเทวดาแต่กลับไปตั้งอยู่บริเวณเขาพระทองอีกครั้งหนึ่ง

เจ้าเมืองคนใหม่ตั้งบ้านเรือนบริเวณเขาพระทอง และได้ทำการปรับปรุงพุทธสถานเขาพระทองอีกครั้ง ปรากฏว่าพระประธานเกิดผุยุ่ยนุ่มนิ่มไปทั้งองค์อันเนื่องมาจากคราวศึกท้าวอู่ทอง ชาวบ้านอาจหาวัสดุคุณภาพดีไม่ทันเพียงเพื่อปกปิดองค์พระทองเอาไว้ เมื่อนานเข้าวัสดุที่พอกไว้เกิดผุยุ่ยนุ่มนิ่ม จึงพากันเรียกว่าพระนิ่ม เขาและถ้ำที่ประดิษฐานพระนิ่มก็เรียกเขาพระนิ่ม ถ้ำพระนิ่มตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

สมัยอยุธยา เห็นว่าเมืองที่ปกครองบริเวณลุ่มน้ำท่าทอง ชื่อเมืองท่าทองบ้าง เมืองบันไทยสมอหรือบันทายสมอบ้าง จึงให้ชื่อเมืองท่าทองอย่างเดียว ให้ผู้รักษาเมืองหรือเจ้าเมืองท่าทองมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงเรียกหลวงท่าทอง สาเหตุสำคัญที่ต้องย้ายเมืองเพราะที่ตั้งตั���เมืองเดิมหาที่ตั้งบ้าน และหาที่ทำกินให้อยู่ใกล้ตัวเมืองไม่ได้ สมัยก่อนไม่มีเงินเดือนและไม่มีสถานที่ราชการไว้ให้ ใครเป็นเจ้าเมืองต้องหาที่ตั้งบ้านอยู่ หาที่ดินทำไร่นาของตนเอง เรื่องนี้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวในสาส์นสมเด็จว่า การปกครองแต่ก่อนไม่มีสถานที่ของรัฐบาล บ้านเจ้าเมืองเรียกว่าจวนอยู่ที่ไหนก็ว่าราชการที่นั่นมีแต่ศาลาโถงหลังหนึ่งเรียกศาลากลาง เป็นที่สำหรับชำระความและประชุมกรรมการ มีตารางไว้ขังนักโทษหลังหนึ่ง ถ้าเจ้าเมืองเป็นคนต่างถิ่นก็ต้องไปหาที่ดินสำหรับสร้างจวนกับศาลากลาง และตารางขังนักโทษจึงทำให้เป็นเหตุที่ต้องย้ายเมือง ดังกล่าวแล้ว

ประมาณ พ.ศ. 1920 – 2328 ตัวเมืองท่าทองได้ย้ายที่ตั้งเมืองใหม่ด้วยสาเหตุดังกล่าว ตั้งแต่บริเวณวัดเขาพระนิ่มไปทางต้นน้ำจนถึงวัดขนุน โดยเฉเพาะบริเวณบ้านท้อนและสถานที่ใกล้เคียง ซึ่งเห็นได้จากบริเวณเหล่านี้ มีวัดเก่าวัดร้างอยู่มากดังที่ขุนประกิจกาญจนเขต (ขาบ วิชัยดิษฐ์) ได้กราบทูลต่อสมเด็จกรมพระยานริศฯ เมื่อ พ.ศ. 2478 ที่ปรากฏในสาสน์สมเด็จ ได้ความว่าที่บ้านท้อนนั้นนับเฉพาะวัดร้างที่ยังสังเกตได้ชัดมีถึง 18 วัด บางวัดสร้างมานานจนมูลดินท่วมสูงถึงพระศอพระประธาน

เมืองท่าทองที่บ้านท้อนตั้งอยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำท่าทอง มีเรื่องเล่าถึงการตั้งเมืองว่า สมัยก่อนมีต้นสะท้อนขึ้นอยู่เป็นดง ต่อมามีชาวนครศรีธรรมราชชื่อ นายมาก ได้อพยพครอบครัวและสมัครพรรคพวกมาตั้งบ้านเรือนและทำมาหากินที่บ้านท้อน จนมีฐานะร่ำรวยเนื่องจากมีพื้นที่ไร่นาอุดมสมบูรณ์ดี จนกลายเป็นหมู่บ้านใหญ่ มีคนรู้จักมากจึงได้ชื่อว่าบ้านท่าทอง หมายความว่าที่แห่งนั้นเป็นท่าเรือ เป็นตลาดค้าขายเป็นแหล่งทำมาหากิน มีความเจริญรุ่งเรืองมีเงินมีทอง เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชจึงยกฐานะขื้นเป็นเมืองและให้ชื่อว่าเมืองท่าทองและแต่งตั้งพระวิสูตรสงครามราชภักดีมาเป็นผู้รักษาราชการ

ทำเนียบข้าราชการเมืองท่าทอง มีกล่าวไว้ในทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยาโปรดให้กำหนดตำแหน่งพระหลวงกรมการ ให้ไว้แก่เมืองนครศรีธรรมราชจึงถือเป็นส่วนหนึ่ง ที่เป็นรายชื่อของข้าราชการเมืองท่าทองมี 32 ตำแหน่ง คือ

  • หลวงวิสุทธิสงคราม ผู้รักษาเมือง ศักดินา 1,600ฝ่ายซ้ายถือรูปตราไก่ยืนบนแท่น
  • หลวงพิชัยราชรักษา ปลัด ศักดินา 1,200
  • ขุนไชยรักษา รองปลัด ศักดินา 400
  • ขุนไชยภักดี ยกกระบัตรเมือง ศักดินา 1,000
  • ขุนไชยรักษา มหาดไทย ศักดินา 800
  • ขุนศรีอาญา รองมหาดไทย ศักดินา 400
  • ขุนเทพอาญา มหาดไทยเวรศาลา ศักดินา 600
  • ขุนไชยเสนา สัสดี ศักดินา 600
  • ขุนไชยจ่าเมือง กรมเมือง ศักดินา 600
  • ขุนราชเมืองขวาง รองกรมเมือง ศักดินา 400
  • ขุนนา กรมนา ศักดินา 600
  • ขุนศรีศุภราช รองกรมนา ศักดินา 400
  • ขุนทิพยมณเฑียร กรมวัง ศักดินา 600
  • หมื่นพรหมมณเฑียร รองกรมวัง ศักดินา 400
  • ขุนคลัง กรมคลัง ศักดินา 600
  • ขุนสมบัติ รองกรมคลัง ศักดินา 400
  • ขุนสรรพากร กรมการฝ่ายสรรพากร ศักดินา 600
  • ขุนเทพรักษาสุภาแพ่ง กรมการฝ่ายสรรพากร ศักดินา 600
  • หมื่นศรีภักดี นายแขวงตะบาน
  • พันสิทธิ์ รองนายแขวง
  • ขุนอินทรเดชะ นายแขวงญวนตะเหอะ
  • หมื่นทิพ รองนายแขวง
  • ขุนไกรธานี นายแขวงพลายวาส
  • หมื่นราชภักดี รองนายแขวง
  • หมื่นกลาง นายแขวงท่าชี
  • หมื่นอินทร์ รองนายแขวง
  • ขุนทิพภักดี นายแขวงท่าทองอุแท
  • หมื่นศรี รองนายแขวง
  • ขุนเพชร นายด่านปากน้ำท่าทอง
  • หมื่นศรี รองนายด่าน
  • ขุนวิชิตสงคราม นายด่านท่าข้าม
  • หมื่นฤทธิ์ รองนายด่าน
  • นายแขวง และ นายด่าน ศักดินา 300
  • รองนายแขวง และรองนายด่าน ศักดินา 200

(รวม 32ตำแหน่ง)

เมืองท่าทองในสมัยอยุธยา เจ้าเมืองชื่อหลวงวิสุทธิสงคราม มาในสมัยกรุงธนบุรี มีบรรดาศักดิ์เป็นพระวิสูตรสงครามเนื่องจากหลวงวิสุทธิสงคราม ได้สวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าตากสินและร่วมปราบก๊กเจ้านคร จึงโปรดพระราชทานราชทินนามเจ้าเมืองท่าทองเป็นพระวิสูตรสงครามและถวายบุตรคนโต เข้ารับราชการที่กรุงธนบุรีจนได้เป็นนายจ่ายวดอันเป็นบรรดาศักดิ์ข้าราชการกรมมหาดเล็ก ตำแหน่งยศรองจากนายเวรหรือนายหลวง เหนือจากตำแหน่งมหาดเล็กหุ้มแพร

นายจ่ายวดกลับมาอยู่ที่เมืองท่าทองเพื่อเตรียมรับหน้าที่สืบต่อจากพระวิสูตรสงครามผู้เป็นบิดา แต่เกิดศึกพม่าเข้ามารุกรานไทยใน พ.ศ. 2328 พร้อมกันเก้าทัพ มาปักษ์ใต้ 2 ทัพ โดยมีแกงหวุ่นแมงยี รวมพลที่เมืองมะริดรวม 10,000 คน เข้ามาตีเมืองไทยในเดือนอ้าย ให้ยีหวุ่นเป็นแม่ทัพเรือไปตีหัวเมืองไทยด้านชายฝั่งทะเลตะวันตกตั้งแต่ตะกั่วป่าถึงเมืองตรัง 3,000 คน แกงหวุ่นคุมทัพบก 7,000 คน ให้เนมโยคุงนะรัดกับตองพยุงโบ คุมทหาร 2,500 คน เป็นทัพหน้า แกงหวุ่นคุมทัพหลวง 4,500 คน ทัพหน้าเข้ายึดเมืองระนอง กระบุรี และชุมพร ได้โดยไม่ต้องสู้รบ เจ้าเมืองและราษฎรต่างหนีเข้าป่าไปก่อน พม่าจับเชลยได้ 2 คน คือโจ้งกับเจ้ง เป็นคนสัญชาติพม่าแต่มาอยู่เมืองไทยนานแล้วได้เป็นล่ามให้แม่ทัพ ส่วนทัพหลวงให้รักไชยซึ่งเป็นชาวไชยา แต่ถูกพม่าจับไปเป็นเชลยตั้งแต่พม่ามาตีไทยเมื่อ พ.ศ. 2310 เจ้าพระยานครฯ ทราบข่าวทัพพม่ายกมา จึงมีใบบอกเข้าไปยังกรุงเทพฯให้ส่งทหารมาช่วยเหลือ เพราะพม่ามีจำนวนมากเหลือวิสัยจะต่อสู้ได้ เมืองท่าทองสมัยนั้นตั้งอยู่บริเวณบ้านท้อน พระท่าทองได้วางแผนต่อสู้พม่า โดยใช้คลองท่าทองเป็นแนวป้องกันมิให้พม่าเข้ามาถึงตัวเมือง โดยการตั้งค่ายที่ชายฝั่งใช้ปืนยิงพม่าที่ยกข้ามคลองมา ถ้าพม่ายกมามากสู้ไม่ไหวก็วางแผนหนีได้โดยปลอดภัย จึงได้เรียกประชุมกรมการเมืองและนายด่านนายแขวง พร้อมซุ่มฝึกซ้อมคนเข้าฝึกรบ โดยมีบุตรสาวของพระท่าทองคือแม่นกและแถมเป็นผู้นำด้วย

พระท่าทองให้นายแขวงไปชี้แจงชาวบ้านให้ทราบ อย่าเพิ่งตกใจข้าศึกยังอยู่ไกล ให้เตรียมการเอาไว้ เช่นข้าวสารอาหารให้เพียงพอแก่การบริโภค ให้หัวหน้าหมู่บ้านเตรียมหาสถานที่อพยพราษฎรแต่อย่าให้ไกลแหล่งน้ำจืด ควรไปอยู่กันเป็นกลุ่มหลายครอบครัวจะได้ช่วยกันดูแล พระท่าทองเมื่อทราบข่าวว่าพม่ายกมาถึงไชยา และกองกำลังของนครศรีธรรมราชยกมาตั้งสกัดข้าศึกที่ด่านท่าข้าม พระท่าทองจึงให้นายจ่ายวดบุตรคนโตกับสมุห์แจะ นำกำลัง 500คนไปสบทบที่ท่าข้าม พร้อมอพยพราษฎรที่อยู่ใกล้เมืองท่าทองให้ย้ายมาทางฝั่งเมือง ขนข้าวของ สัตว์เลี้ยงมาให้หมดเรือแพก็เอามาเก็บไม่ให้มีอยู่ทางฝั่งนั้น ชายฉกรรจ์มารวมพลและขุดสนามเพลาะเพิ่มเติม

ฝ่ายพม่าเดินทัพจากไชยาไปเมืองนครศรีธรรมราชถึงแม่น้ำหลวงที่ท่าข้าม มองข้ามแม่น้ำมาเห็นกองทหารไทยตั้งอยู่ เรือแพจะข้ามฝา���ก็ไม่มี จึงตั้งค่ายรอทัพและให้ทหารตัดไม้ทำแพ และวางแผนยกพลข้ามไปโดยไม่ต้องใช้กำลังสู้รบให้บาดเจ็บล้มตาย โดยออกอุบายให้ล่ามรักไชยร้องบอกหลอกกองทัพไทยว่า เมืองหลวงได้เสียให้แก่พม่าแล้ว ทหารกรุงยังสู้พม่าไม่ได้ทหารหัวเมืองจะสู้ได้หรือ ให้ไปบอกนายให้ยอมแพ้เสีย ถ้าขัดขืนจะฆ่าให้หมดสิ้น รักไชยคอยหาโอกาสปลีกตัวออกจากกองทัพพม่า จึงยอมรับปากและบอกให้หาไม้ไผ่ยาว 2 ศอกทะลวงปล้องให้ทะลุ จะได้ใช้เป็นกระบอกเสียงเพราะแม่น้ำกว้างไกลไม่ได้ยิน พม่าเห็นด้วยจึงจัดหาเรือลำเล็กพารักไชยไปโดยมีทหารที่ฟังภาษาไทยรู้เรื่องนั่งคุมอยู่กลางลำ พลทหารนายท้ายนำเรือออกไปกลางแม่น้ำรักไชยแกว่งกระบอกให้เรือเดินหน้าไปเรื่อย ทหารพม่าสั่งหยุดแต่รักไชยขัดขืน ทหารพม่าคว้าอาวุธที่แอบซ่อนมาจะทำร้าย รักไชยระวังตัวอยู่แล้วจึงฝาดด้วยกระบอกไม้ไผ่ล้มนอนพาดแคมเรือ รักไชยจึงเหยียบแคมเรือให้เรือคว่ำ เสียงปืนฝ่ายพม่ายิงมาแต่รักไชยดำน้ำหนีขึ้นฝั่งไทย ฝ่ายนครฯและจ่ายวดเห็นเหตุการณ์ตลอดจึงยืนรับที่ฝั่งแล้วพาไปพบหัวหน้า รักไชยจึงเล่าว่าทหารพม่ามีมากและกำลังรอกองทัพที่จะตามสมสมทบอีก ฝ่ายนครฯ และจ่ายวดจึงถอนตัวกลับ พระท่าทองทราบคำตามที่จ่ายวดบอก ก็คิดว่าพม่าส่วนใหญ่คงยกไปเมืองนครฯ มาเมืองท่าทองคงไม่มากจึงเตรียมการพอจะต่อสู้ไหว

ฝ่ายพม่าเห็นทหารไทยหายตัวไป คิดว่าตนใช้อุบายกลลวงได้สำเร็จ แม้เสียทหารไป 2 คน จึงได้บันทึกกลลวงไว้เป็นหลักฐานในตำนาน ทหารพม่าทำแพข้ามน้ำมาได้ แกงหวุ่นแม่ทัพสั่งให้เนมโยกับตองโบคุมทัพหน้า 2,500 คน ยกมาตีเมืองท่าทอง โดยตองโบคุมทหาร 800 คน เป็นหน่วยหน้า เดินทางมาก่อนล่วงหน้า 1 วัน ส่วนเนมโยคุมกำลัง 1,700 คน ตามมาทีหลัง โดยใช้เส้นทางที่ชาวท่าทองใช้อยู่เป็นประจำ มาพักที่หมู่บ้านมะขามเตี้ย รุ่งขึ้นเดินทางต่อมาถึงคลองท่าเพชร (คลองท่าทองใหม่) ถึงเขาแก้วตั้งค่ายพัก ให้ทหารเที่ยวหาเสบียงในหมู่บ้านทุ่งกง รุ่งขึ้นเดินทางต่อถึงคลองกระแดะ ตั้งค่ายพักเพราะเห็นเป็นหมู่บ้านใหญ่ย่อมหาเสบียงได้ดี รุ่งขึ้นเดินทางต่อผ่านป่าหาที่เหมาะพักแรมไม่ได้ จนถึงคลองท่าทองฝั่งตรงข้ามกับตัวเมืองจึงตั้งค่ายพัก เห็นว่าเป็นชุมชนไม่ใหญ่และเงียบเชียบดีคิดว่าผู้คนคงหนีไปที่อื่นหมดแล้ว เหมือนเมืองที่ผ่านมาจะข้ามไปดูก็ไม่มีเรือแพ รุ่งขึ้นตองโบจึงให้ทหารออกเก็บหาเสบียงตามบ้าน ก็ไม่มีถ้ายังให้ทหารอยู่ทั้ง 800 คงหาอาหารเลี้ยงไม่ไหว จึงให้เหลือทหารไว้สร้างแพ 200 คน ที่เหลือให้ถอยกลับมารอที่ค่ายกระแดะก่อน เนมโยนำทหาร 1,700 คน ตามมาพบตองโบที่ถอยกลับมาที่ที่ค่ายกะแดะตองโบรายงานว่าที่เมืองท่าทองสภาพเมืองใช้คน 800 คน คงพอ ขอให้เนมโยถอยทหารกลับมารอที่ค่ายเขาแก้ว เพราะถ้าอยู่ค่ายกระแดะกลัวเสบียงจะไม่พอ รอให้ตองโบตีเมืองท่าทองได้แล้ว จึงค่อยเดินทางไปพบแกงหวุ่นที่ค่ายลำพูน พระท่าทองเห็นทหารพม่า มากันมากแล้วค่อยๆหายไปคงเกิดจากแผนที่ได้วางไว้คือ เก็บเรือแพเก็บข้าวและสัตว์เลี้ยงมาเสียทำให้พม่าต้องใช้เวลาทำแพและไม่มีเสบียงจึงตั้งค่ายที่ท่าทองทั้งหมดไม่ได้ ทหารที่อยู่ที่ค่ายท่าทอง ถ้าส่งคนไปโจมตีก็คงทำได้แต่จะต้องสูญเสียมากและพม่ามีกำลังมากกว่าจะส่งคนมาเรื่อยคงไม่จบสิ้นสู้ตั้งรับดีกว่า พม่าทำแพแล้วล่ามไว้ชายฝั่ง แม่นกจึงให้คนว่ายน้ำลอบไปตัดปล่อยให้แพลอยตามน้ำที่ไหลลง พม่าต้องสร้างแพใหม่แล้วนำไปไว้บนบกมีทหารเฝ้า รุ่งเช้าพม่าให้ทหาร 500คน ลงแพแล้วช่วยกันค้ำถ่อออกมาจากฝั่งอย่างทุลักทุเลเพราะแพมีขนาดใหญ่บังคับยาก ตองโบยืนบัญชาการอยู่บนฝั่งอย่างมั่นใจ ทหารพม่ายิงปืนมาทางฝั่งเมืองเป็นการข่มขวัญ หน่วยปืนฝ่ายท่าทองรอจนได้ระยะจึงยิงต่อสู้ไปยังเป้าหมายอย่างไม่ขาดตอนพม่าล้มตายเป็นจำนวนมาก ตองโบจึงสั่งให้ถอยกลับ กลางคืนฝ่ายท่าทองได้ปรับแนวรบใหม่ โดยลงไปใช้ไม้หลักยาวๆ ปักไว้ห่างๆ พอปริ่มน้ำที่กลางคลองแล้วใช้เชือกผูกขึงไว้ใต้น้ำเพื่อดักแพของพม่า ฝ่ายพม่าคิดทำแพใหม่ให้มีขนาดเล็กลงและตั้งแผงด้านหน้าเพื่อกันกระสุนให้แฉลบขึ้นไม่โดนคน พร้อมนำกำลังทหารที่ค่ายกระแดะทั้งหมดจัดกำลังลงแพอย่างรอบคอบ

จนบ่ายจึงออกแพคราวนี้ตองโบมั่นใจว่าจะฝ่ากระสุนเข้าฝั่งได้ จึงลงแพมาบัญชาการเองอย่างใกล้ชิด ฝ่ายท่าทองเตรียมพร้อมอยู่บนฝั่งพอแพติดไม้หลักและเชือกที่ขึงไว้ แพจึงหมุนหันข้างให้ฝ่ายท่าทองจึงซุ่มยิงอย่างไม่คลาดเป้า แพแถวหลังชนแพหน้าเกาะกันเป็นกลุ่ม เกิดการชุลมุนแพขาดการควบคุมตองโบก็หายไปในระหว่างชุลมุน พม่าขาดผู้บังคับบัญชาก็เสียขวัญจึงนำแพกลับเข้าฝั่งไปรายงานเนมโยที่ค่ายเขาแก้ว ฝ่ายท่าทองได้ยิงสกัดทหารพม่าตายเป็นจำนวนมาก ทำให้กระสุนดินดำเหลือน้อยอาจไม่พอสกัดทหารพม่าต่อไปได้ และสังเกตเห็นว่าพม่าปรากฏตัวที่ค่ายท่าทองมากขึ้น พร้อมสร้างหอรบตั้งปืนใหญ่ทำให้พระท่าทองเห็นว่าสุดวิสัยที่จะต่อสู้ได้แล้ว จึงควรล่าถอยเพื่อสงวนชีวิตไว้จึงให้ภรรยาและข้าทาสบริวารลง��รือพายล่องออกชายฝั่งล่วงหน้า ไปขึ้นเรือใบที่จัดเตรียมไว้นอกทะเล ครั้นอพยพคนไปแล้วพระท่าทองก็ไปตรวจแนวรบอีกครั้งหนึ่ง พบแม่นกแม่แถมกับพวกอาสาอีกกลุ่มหนึ่ง ยังไม่ล่าถอยได้พยายามพูดจาเกลี่ยกล่อมอย่างไรก็ไม่สำเร็จ พระท่าทองจึงจำใจจากเมืองไป ก่อนไปได้เอาเงินทองใส่ไหแล้วครอบปากด้วยฆ้องฝังดินไว้ใต้ถุนบ้าน พม่ามีกำลังและอาวุธที่เหนือกว่าจึงเข้ายึดเมืองท่าทองได้ แม่นกกับแม่แถมและพวกจึงถูกจับเป็นเชลย ตองพยุงโบรองแม่ทัพให้เชลยออกตามหาพระท่าทอง พร้อมทรัพย์สินมาให้ภายใน 5 วัน แม่นกจึงนัดกับพวกเชลย ให้ออกไปแล้วหนีไปให้พ้นไม่ต้องกลับมา ตนเองจะแหกค่ายหนีไปเอง ในที่สุดแม่นกและแม่แถมแหกค่ายออกมาแม่นกโดนยิงตกน้ำตาย แม่แถมกระโดดน้ำหนีไปได้ พม่าโกรธมากจึงเผาทำลายเมืองท่าทองพินาศสิ้น จับชาวเมือง ทั้งเด็กผู้ใหญ่ ผู้หญิงไม่เลือกหน้า พร้อมปล่อยทหารออกเก็บเอาสมบัติ ของชาวเมืองตามพอใจตามประเพณีทำสงครามแต่โบราณ ถ้าตีเมืองได้ด้วยการรบพุ่ง

พม่าชนะเมืองท่าทองด้วยการรบพุ่ง นายทหารพม่าถูกชาวท่าทองฆ่าตายเป็นจำนวนมาก เพราะท่าทองตั้งรับอยู่บนฝั่ง ฝ่ายพม่าลงแพข้ามคลองมา จึงเป็นเป้ากระสุน ทำให้ในคลองท่าทองมีศพลอยเน่าอยู่ทั่วไป เมืองท่าทองตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยศรีวิชัยจนถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์รวมเป็นเวลากว่า 1,000 ปี

ปรับเปลี่ยนฟื้นฟู

ไฟล์:พระวิสูตรสงครามรามภักดี.jpg|พระวิสูตรสงครามรามภักดี (ต้นตระกูล เทือกสุบรรณ, วิชัยดิษฐ, แสงเดช) ผู้ก่อตั้งอำเภอเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี (บ้านดอน) ในปัจจุบัน

เมืองท่าทองหลังจากถูกพม่าเผาทำลาย กรมพระราชวังบวรฯ ได้ให้นายสมซึ่งเป็นข้าหลวงเดิมได้รับแต่งตั้งเป็นหลวงวิเศษภักดีเป็นผู้รั้งเมืองท่าทองแทนเจ้าเมืองคนเดิม นายจ่ายวดและหลวงวิเศษได้พาบริวารเดินทางจากไชยามาเมืองท่าทอง ผ่านบ้านมะขามเตี้ย บ้านแหลมวัง ทุ่งกง บ้านตะเหอะ และหัวเมืองกำแพงกระแดะ ได้พักค้างคืนเพื่อสอบถามความเป็นมา และศึกษาภูมิประเทศไปด้วยตลอดทาง จากกระแดะไปจนถึงเมืองท่าทอง หลวงวิเศษได้เห็นสภาพบ้านเมืองเหมือนเมืองร้าง บ้านเรือนวัดวาอารามไม่เหลือแม้แต่น้อยผู้คนก็ไม่มีไม่รู้ไปอยู่ที่ไหน มีแต่ซากศพที่ล้มตายจากการสู้รบเมื่อ 2 เดือนก่อน ปนอยู่กับกองเถ้าถ่าน น้ำในคลองท่าทองไม่เหมาะที่จะบริโภคใช้สอยเพราะอาจเกิดโรคระบาดได้ ประกอบกับข้าวปลาอาหารก็ไม่สามารถหาได้ เพราะถูกพม่าเผาสิ้น จึงเห็นว่าไม่เหมาะที่จะตั้งเมืองที่คลองท่าทองอีก จึงพาบริวารเดินทางกลับมาพักค้างคืนที่คลองกระแดะที่ค่ายร้าง เมื่อคราวพม่าไปตีเมืองท่าทองซึ่งอยู่ฝั่งขวาของคลองกะแดะตรงข้ามกับบ้านวัดไทร ในท้องที่แขวงพลายวาส ใกล้หัวเมืองกำแพงกระแดะ ที่เป็นหัวเมืองหนึ่งของเมืองนครศรีธรรมราชเช่นเดียวกับเมืองท่าทอง

หลวงวิเศษได้ปรับปรุงค่ายร้างที่คลองกระแดะเป็นบ้านพักและเป็นที่ว่าราชการชั่วคราว การที่อยู่ที่กระแดะนั้นเพราะเห็นว่าไม่ไกลจากตัวเมืองท่าทองมากนัก สามารถที่จะดำเนินการช่วยเหลือราษฎรที่หนีภัยสงครามให้กลับมาอยู่ที่เดิมกันใหม่ต่อไปได้ ตัวเมืองท่าทองแม้ถูกเผาแต่ที่ดินยังมีให้ทำมาหากินต่อไปได้ อีกประการหนึ่งการตั้งอยู่ที่คลองกะแดะอยู่ใกล้ชุมชนกระแดะย่อมหาอาหารจากหัวเมืองกำแพงกระแดะและท้องที่ใกล้เคียงสะดวกกว่าที่อื่น ครั้นจัดสถานที่พักและที่ว่าราชการแล้ว หลวงวิเศษจึงเรียกกรมเมืองและนายแขวงมาพิจารณาปรับปรุงเมืองตำแหน่งที่ขาดหายไปก็ตั้งคนใหม่มาให้ครบพร้อมให้สืบหาพระวิสูตรสงครามเจ้าเมืองคนก่อนและครอบครัว นายจ่ายวดบุตรคนโตของพระวิสูตรสงครามได้พาน้องๆคือหม่อมมาก แม่บุญคง แม่แถม แม่ฉิม หม่อมราม เข้าพบหลวงวิเศษ ส่วนแม่นกตายเมื่อคราวแหกค่ายพม่า หลวงวิเศษได้อุปการะบุตรของเจ้าเมืองคนก่อนตามสมควรต่อมาได้ยกแม่แถมเป็นภรรยาแล้วสร้างบ้านให้อยู่ในบ้านกระแดะของหัวเมืองกำแพงกระแดะ ส่วนท่านพระครูเจ้าคณะเมืองเมื่อสืบพบแล้วก็ได้นิมนต์มาอยู่ที่วัดในบ้านกระแดะ หลวงวิเศษได้ปรับปรุงใหม่ใช้เป็นวัดถือน้ำ วัดนี้ตั้งอยู่ที่ถนนจึงเรียกวัดถนนหรือวัดหนุน พระที่อยู่ที่วัดถนน ได้มีการศึกษาและปฏิบัติกิจวัตรเช่นเดียวกับวัดกำแพง ซึ่งเป็นวัดสำคัญของหัวเมืองกำแพงกระแดะ และไม่ไกลมากนักมีวัดสำคัญอีกวัดหนึ่งคือวัดคูหา ในท้องที่หัวเมืองหัวหมากลำงาย

ศึกพม่าครั้งนี้ทำให้ราษฎรเมืองท่าทองต้องประสบภัยความอดอยากเกือบทั่วไปเพราะพม่ายกมาถึงในเดือนสาม ราษฎรส่วนใหญ่ยังเก็บข้าวไม่เสร็จ ที่เก็บมาไว้แล้วพม่าก็เอาไปเป็นเสบียงเสียสิ้น สัตว์เลี้ยงก็ถูกพม่าจับเอาไปกินจนหมด

การฟื้นฟูเมืองครั้งแรก โดยอาศัยพระภิกษุช่วยชักนำ ให้กลับมาอยู่ใหม่ คนยังหวาดกลัวและเสียขวัญ ในตัวเมืองยังมีซากศพตากแดดตากฝนเป็นที่อุจาดตา พระภิกษุจึงเป็นฝ่ายนำราษฎรมาดำเนินการ ฝ่ายบ้านเมืองเป็นผู้อุปการะราษฎร ได้พระเป็นที่พึ่งทางใจจึงทยอยกันกลับมาทำนาให้ทันตามฤดูกาล โดยสร้างที่พักกันเป็นกลุ่มๆ ชั่วคราวพร้อมทั้งจัดที่พักให้พระใกล้ๆ กัน งานแรกคือจัดการเก็บซากศพทั้งไทยและพม่าเผาให้หมด โดยนำไปรวมไว้แห่งเดียวกันสถานที่แห่งนั้นสันนิษฐานว่าเป็นวัดศพหรือวัดประสบในปัจจุบัน เมื่อเก็บศพไปเผาแล้วก็ทำพิธีขจัดบาปเคราะห์แล้วสวดพุทธมนต์ใหญ่เป็นมงคลแก่บ้านเมืองให้ราษฎรมีกำลังใจทำมาหากินต่อไป ครั้งเสร็จจากนาก็ช่วยกันสร้างเสนาสนะให้กับวัดต่างๆ จำนวนมาก

ต่อมาพระท่าทองที่หนีไปอยู่หลังสวน ทราบว่าแม่แถมยังมีชีวิตอยู่และเป็นภรรยาของเจ้าเมืองคนใหม่ จึงให้บ่าวมาบอกแม่แถมให้ไปนำเงินทองที่ซ่อนไว้มาทำบุญ แม่แถมจึงนำเงินทองนี้มาปฏิสังขรณ์วัดถนนที่กระแดะและสร้างวัดเหนา หลวงวิเศษอยู่ที่กระแดะแล้ว ได้ไปสร้างไร่นาเพื่อเลี้ยงตนและครอบครัวที่ชายทุ่ง ใกล้ฝั่งทะเลอ่าวท่านาทิศเหนือของบ้านกระแดะบริเวณนั้นคงเรียกกันว่าไร่หลวงวิเศษ ต่อมาเมื่อหลวงวิเศษเลิกไร่ไปอยู่มะขามเตี้ย มีราษฎรไปตั้งบ้านเรือนอยู่จึงเรียกไร่หลวงมาจนทุกวันนี้ ส่วนทุ่งฝ่ายตะวันออกของคลองกะแดะในท้องที่พลายวาส มีคูชักน้ำจากคลองกะแดะไปเข้านาในทุ่งนี้ เรียกกันว่าคูหลวงสันนิษฐานว่า คงเรียกว่าคูหลวงวิเศษนานเข้าเรียกสั้นลงว่าคูหลวงหรือไม่ก็เป็นคูของบ้านเมืองหรือของหลวงจึงเรียกคูหลวง

เมืองท่าทองตั้งอยู่ที่คลองกระแดะ ทำให้หัวเมืองกำแพงกระแดะเจริญ มีถนนไปยังท่าน้ำหน้าบ้านวัดไทร ที่หน้าบ้านวัดไทรเป็นท่าเรือข้ามฟากไปมา ระหว่างหัวเมืองกะแดะกับที่ตั้งบ้านหลวงวิเศษ ซึ่งใช้เป็นที่ว่าราชการเมืองท่าทอง ทำให้มีเรือมารับส่งสินค้าและมีร้านขายของต่างๆ เป็นที่พักสินค้าเช่นข้าวเปลือกก็มีขึ้นที่ท่าหน้าบ้านวัดไทร เกิดเป็นชุมชนกระแดะ

หัวเมืองกำแพงกะแดะ ตามตำนานกล่าวว่าเจ้าพระยาศรีธรรมโศกราชซึ่งครองเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อประมาณ พ.ศ. 1840 ได้ส่งคนมาพัฒนาบ้านเมืองที่กระแดะ เช่นว่าให้นายไชย นายจันนำคนมาทำนาที่กระแดะ ให้นายง้อ นายทองอยู่สร้างวัดกระแดะและสร้างพระวิหาร เป็นต้น เจ้าพระยาศรีธรรมโศกราชเป็นพี่ชายของเจ้ากุมารซึ่งเป็นเจ้าเมืองท่าทองในคราวนั้นด้วย หัวเมืองกำแพงกระแดะส่งส่วยหวายสะเดียงต่อเมืองนครศรีธรรมราช แสดงให้เห็นว่ากระแดะเป็นหัวเมืองของเมืองนครศรีธรรมราชมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่ความเป็นชุมชนของกระแดะสันนิษฐานว่า ได้มีมาตั้งแต่สมัยศรีวิชัยเป็นอย่างน้อยเพราะปรากฏว่าที่วัดกำแพง ซึ่งเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณ ที่เรียกวัดกำแพงคงเรียกตามชื่อท้องถิ่นคือกำแพงกระแดะ และต่อมาได้ทำการผูกพัทธสีมาใหม่เมื่อประมาณ พ.ศ. 2470 และได้เปลี่ยนเป็นวัดกาญจนารามตั้งแต่นั้นมา มีโบราณสถานโบราณวัตถุสมัยศรีวิชัยคือพระเจดีย์และพระพิมพ์ทำด้วยดินดิบ (เจดีย์ตั้งอยู่หลังโบสถ์แต่หักพังชำรุดมาก ทางวัดได้รื้อไปหมดสิ้นราว พ.ศ. 2505 ในการรื้อครั้งนั้นเล่ากันว่าได้พบพระพิมพ์ทำด้วยดินดิบบรรจุอยู่ในเจดีย์จำนวนหนึ่ง พระพิมพ์ในสมัยศรีวิชัยจะไม่เหมือนกับสมัยอื่นเพราะจะทำด้วยดินดิบไม่เผาไฟเพราะการทำพระพิมพ์นี้ ลูกศิษย์จะเก็บเอากระดูกของอาจารย์มาโขลกผสมกับดินและไม่นิยมเผาไฟ เพราะเห็นว่าสรีระได้ถูกเผาไปครั้งหนึ่งแล้วจึงไม่ควรนำมาเผาอีก)

หัวเมืองกำแพงกระแดะเป็นหัวเมืองชั้น 6 มีหัวหน้าปกครองมีบรรดาศักดิ์เป็นขุนไชยภักดีมีอัตราข้าราชการตามทำเนียบ 7 นายคือ 1. ขุนไชยภักดี นายที่หรือหัวเมือง ศักดินา 400 2. หมื่นธรรมรักษ์บุรี รองหัวเมือง ศักดินา 200 3. หมื่นแสน สมุห์บัญชี ศักดินา 200 4. หมื่นไกร สมุห์บัญชี ศักดินา 200 5. หมื่นราม สมุห์บัญชี ศักดินา 200 6. หมื่นหาญ สารวัตร ศักดินา 200 7. หมื่นราชภักดี นายอำเภอ ศักดินา 200

หลวงวิเศษ (สม) ตั้งบ้านว่าราชการเมืองอยูที่คลองกะแดะจนดำเนินการช่วยเหลือให้ราษฎรที่เมืองท่าทอง กลับมาทำมาหากินที่เมืองท่าทองตามเดิม เมื่อเห็นว่าราษฎรมีความเป็นปกติสุขตามสมควรแล้วจึงคิดอ่านที่จะตั้งเมืองท่าทองให้เป็นหลักฐานอย่างถาวรต่อไป หลวงวิเศษเห็นว่าคลองท่าทองไม่เหมาะที่จะตั้งเมืองใหม่เพราะอยู่ไกลจากเขตแดนตะวันตกมาก คือจากคลองพุมดวงมาคลองท่าทองเป็นระยะทางประมาณ 300กิโลเมตร ราษฎรในท้องที่ตะวันตกจึงอยู่ไกลจากตัวเมืองมาก เจ้าหน้าที่ดูแลยากไม่ทั่วถึง ส่วนที่คลองกะแดะที่ตั้งเมืองชั่วคราวอยู่ห่างไกลพื้นที่ฝ่ายตะวันตกและเป็นคลองขนาดเล็ก เรือที่ค้าขายกับตัวเมืองเข้าออกไม่สะดวก คลองท่าเพชรเป็นคลองใหญ่มีทำเลที่ดีแต่มีช่วงสั้นทางต้นน้ำมีคนอยู่น้อย ส่วนแม่น้ำหลวงเป็นแม่น้ำกว้างลึกและยาวไกล ทางต้นน้ำมีหัวเมืองของเมืองนครศรีธรรมราชอยู่หลายเมือง ถ้าตั้งเมืองทางตอนล่างก็จะอยู่ปากทางเข้าไปยังหัวเมืองต่างๆ ย่อมมีโอกาสค้าขายได้ประโยชน์จากหัวเมืองเหล่านั้นด้วย แต่ชายฝั่งเป็นที่ลุ่มมาก หลวงวิเศษจึงไปตั้งบ้านเมืองที่คลองมะขามเตี้ย ซึ่งอยู่ใกล้เส้นทางคมนาคมระหว่างด่านท่าข้ามกับเมืองท่าทองมาแต่โบราณ

เมื่อสร้างจวนเป็นที่อยู่อาศัยและเป็นที่ว่าราชการเมือง สร้างศาลากลางเป็นที่พิจารณาคดีและประชุมกรมการ สร้างตารางขังนักโทษอันเป็นอาคารสำคัญสำหรับเมืองครบถ้วนแล้ว ได้สร้างวัดไว้หน้าเมือง เรียกว่าวัดหน้าเมืองไว้เป็นที่ถือน้ำ ใน พ.ศ. 2336 จึงได้ย้ายครอบครัวจากคลองกะแดะ มาอยู่ที่เมืองใหม่ที่คลองมะขามเตี้ยพร้อมท่านพระครูเจ้าคณะเมือง ก็ย้ายจากวัดถนนที่บ้านกะแดะมาอยู่ที่วัดหน้าเมืองด้วยเช่นกัน เมื่อหลวงวิเศษรายงานการสร้างเมืองใหม่ให้แก่เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชทราบแล้ว ได้มีใบบอกไปกราบบังคมทูลรัชการที่ 1 ให้ทรงทราบ จึงโปรดให้เรียกเมืองท่าทองตามเดิมและพระราชทานสัญญาบัตรให้หลวงวิเศษ(สม) เป็นพระวิสูตรสงครามรามภักดี หรือพระท่าทองเหมือนเจ้าเมืองคนก่อน

เมืองท่าทองตั้งอยู่มะขามเตี้ยนานกว่า 60 ปีมีเหตุการณ์สำคัญคือ การส่งกำลังไปสู้รบที่เมืองไทรบุรี เมืองไทรบุรี เป็นเมือง12นักษัตรของนครศรีธรรมราชและเป็นเมืองขึ้นของนครศรีธรรมราชมาตั้งแต่สมัยศรีวิชัย จนถึงสมัยอยุธยาเมืองนครศรีธรรมราชและไทรบุรีก็ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยาสมัยรัตนโกสินทร์เมืองไทรบุรีขึ้นตรงกับกรุงเทพ โดยเมืองนครศรีธรรมราชเป็นผู้ดูแล ต่อมาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 ทราบข่าวว่าพระยาไทรบุรีคิดร้ายกับไทย จึงให้พระยานครน้อยทำการสืบสวนหาความจริงพระยานครน้อยไปตั้งอู่ต่อเรือที่สตูลเพื่อคุมเชิงและสืบข่าว ทราบว่าเจ้าพระยาไทรบุรีคิดร้ายต่อไทยจริง โดยคบคิดกับพม่ามาทำร้ายไทย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสให้มีท้องตรา เรียกพระยาไทรบุรีปะแงรันมาแก้ข้อกล่าวหา พระยาไทรบุรีปฏิเสธแล้วตั้งแข็งเมือง จึงโปรดให้พระยานครน้อยเป็นแม่ทัพถืออาญาสิทธิ์เกณฑ์กำลังจากเมืองไชยา เมืองพัทลุง เมืองสงขลา รวมทั้งเมืองท่าทอง ได้ส่งกำลังไปร่วมปราบกบฏด้วยเมืองไทรบุรีถูกตีแตก พระยาไทรบุรีหลบหนีไปอยู่เกาะปีนังอันเป็นเขตปกครองของอังกฤษ เมืองท่าทองได้นำเชลยศึกมาไว้ที่บ้านดอนหมุ่ย ริมฝั่งขวาของคลองท่าเพชรส่วนหนึ่ง ต่อมาสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรด ให้พระยานครน้อยออกแบบต่อเรือรบที่สามารถทำการรบได้คล่องทั้งในทะเลและแม่น้ำลำคลอง ไว้ต่อสู้กับญวน พระยานครน้อย ได้ออกแบบเป็นเรือหัวปากปลาท้ายกำปั้นแปลง ปากกว้าง 3 วา 1 ศอก ยาว 11 วา มีแจวสองข้างกราบเรือตลอดลำ และได้รับพระราชทานชื่อว่า เรือมหาพิชัยฤกษ์ และโปรดให้เสนาบดี เจ๊สัว เจ้าภาษี นายอากร รับไปทำตามอย่างอีก 30 ลำ พระราชทานค่าสร้างลำละ 30 ชั่ง โดยพระยานครน้อย ได้มาตั้งกองต่อเรือที่บ้านดอน ชายฝั่งขวาของแม่น้ำหลวง อันเป็นตัวเมืองสุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ใกล้ปากคลองมะขามเตี้ยอันเป็นทางไปสู่เมืองท่าทอง ตั้งบ้านอยู่บริเวณกลางดอน ถัดมาทางใต้เป็นที่อยู่อาศัยของราษฎร เมื่อมีกองต่อเรือก็ทำให้เป็นหมู่บ้านใหญ่เรียกว่าบ้านดอน สาเหตุที่พระยานครน้อยมาตั้งกองเรือที่บ้านดอนเพราะอยู่ใกล้เมืองท่าทอง สะดวกในการจัดหาอาหารเลี้ยงคนจำนวนมาก เมืองท่าทองมีช่างต่อเรืออยู่มาก ประกอบกับมีไม้ชนิดดีอยู่ในป่าที่ไม่ไกลจากบ้านดอน ตัดแล้วล่องมาที่บ้านดอนได้สะดวก เมื่อต่อเรือเสร็จแล้วจัดส่งเข้ากรุงเทพฯเป็นระยะทางใกล้กว่าที่อื่น ในระหว่างทำการควบคุมการต่อเรืออยู่นั้น เจ้าพระยานครน้อยได้สร้างเรือพระที่นั่งถวายสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเรือรบขนาดปากกว้าง 3 วาทำด้วยไม้อย่างดีขัดตกแต่งทั้งภายในและภายนอก ใช้เวลาสร้าง 7 ปีจึงสำเร็จนำขึ้นทูลเกล้าถวาย ได้รับพระราชทานนามว่าเรือพระที่นั่งอมรแมนสวรรค์

ใน พ.ศ. 2373 ตนกูเด่นหลานเจ้าพระยาไทรบุรีปะแงรัน ได้รวมพรรคพวกเข้าชิงเมืองไทรบุรี พระยาอภัยธิเบศวร์เจ้าเมืองไทรบุรีและปลัดเมืองถูกอาวุธกบฏบาดเจ็บ จึงถอยมาที่เมืองพัทลุงเจ้าพระยานครน้อย จึงมีใบบอกเข้ากรุงเทพฯและได้รวมกำลังเมืองนคร พัทล��ง ท่าทองเข้าร่วมช่วยรบด้วย โดยกองทัพนครเข้าล้อมไว้หมดพวกกบฏตั้งหลักสู้อยู่ในตัวเมือง เรือรบอังกฤษช่วยปิดปากน้ำไทรบุรีพวกกบฏหนีไปทางเรือไม่ได้ ตนกูเด่นกับพวกหัวหน้าไม่มีทางหนีรอดจึงฆ่าตัวตาย พระยาอภัยธิเบศวร์จึงเป็นเจ้าเมืองไทรบุรีต่ออีกวาระหนึ่ง พ.ศ. 2381 เกิดกบฏไทรบุรีอีกครั้งหนึ่ง ผู้นำกบฏคือตนกูหมัดสะอัด เป็นหลานพระยาไทรบุรีอีกคนหนึ่ง ได้สมคบกับหวันมาลีหัวหน้าโจรสลัดที่เกาะยาว ถือโอกาสตอนที่พระยานครน้อยกับพระยาสงขลา ไปราชการทำพระเมรุพระศพสมเด็จพระศรีสุลาลัยที่กรุงเทพฯ ยกไปตีเมืองไทรบุรีและเมืองตรังได้ แล้วเตรียมจะไปตีเมืองสงขลาด้วย ส่วนเจ้าเมืองไทรบุรีหลบหนีมาอยู่ที่เมืองพัทลุง พระยาพัทลุงผู้รักษาการเมืองนครศรีธรรมราชจึงมีใบบอกไปยังกรุงเทพฯและเตรียมป้องกันเมืองพัทลุง เมื่อพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทราบก็โปรดให้พระยานครน้อยและพระยาสงขลาและพระยาไชยากลับมารักษาเมือง พร้อมจัดกองทัพเรือลงมาสนับสนุนโดยพระราชทานเรือพระที่นั่งอมรแมนสวรรค์ ให้เป็นเรือของแม่ทัพโดยมีทหารจากเมืองราชบุรี เพชรบุรี ประจวบฯ ชุมพร รวม 5,000เศษมาสมทบที่เมืองสงขลา ประกอบกับช่วงนั้นเจ้าเมืองพังงาถึงแก่กรรม จึงโปรดให้พระยาไชยาไปรักษาเมืองพังงาและหัวเมืองฝ่ายตะวันตก พระยานครน้อย ได้จัดกำลังไปปราบกบฏที่ไทรบุรี และยึดเมืองไทรบุรีและเมืองตรังกลับคืนมาได้ ตนกูหมัดสะอัดหนีออกนอกเมือง หวันมาลีกับนายแท่น ที่ยึดเมืองตรังอยู่ทราบข่าวว่ากบฏแพ้จึงกวาดต้อนผู้คนลงเรือไปอยู่ที่เกาะนางกาวี พระยาศรีพิพัฒน์แม่ทัพใหญ่นำทัพเรือมาช่วยเมืองสงขลา ปรากฏว่าปราบกบฏได้หมดแล้ว เจ้าพระนานครน้อยเกิดเป็นลมปัจจุบันป่วยอยู่ 3 วันก็ถึงแก่อสัญกรรม จึงให้พระเสน่หามนตรี(น้อยกลาง)เป็นพระยานครศรีธรรมราช ให้ตนกูอาหนุ่มน้องชายเจ้าเมืองไทรบุรีเป็นเจ้าเมืองไทรบุรี เจ้าพระยาอภัยธิเบศวร์เป็นเจ้าเมืองพังงา ให้พระปลัดจุ้ย ปลัดเมืองพัทลุงเป็นพระยาพัทลุง ส่วนที่เมืองท่าทอง พระท่าทองเดชหรือหลวงเทพพิทักษ์สุนทร (เดช) เป็นเจ้าเมืองที่คลองมะขามเตี้ยจนถึง พ.ศ. 2399 ก็พ้นจากหน้าที่ จากนั้นเมืองท่าทองที่มะขามเตี้ยก็เลิกร้างไป

กลับสู่ถิ่นเดิม

เมื่อพระท่าทองเดชพ้นจากหน้าที่ไปแล้ว พระราชานุรักษ์ (ภู่) บุตรพระของเจ้าพระยานครน้อย ได้มาเป็นเจ้าเมืองคนต่อไป พระราชานุรักษ์เดิมชื่อภู่ได้ไปช่วยราชการเมืองไทรบุรีกับพี่ๆ น้องๆ ที่เมืองไทรบุรี ต่อมาไปรับราชการที่กรุงเทพฯ ได้เป็นพระราชานุรักษ์ซึ่งเป็นตำแหน่งรักษาพระองค์สมเด็จกรมพระราชวังบวร ครั้งมาเป็นเจ้าเมืองท่าทองคนทั่วไปจึงเรียกพระท่าทองเหมือนเจ้าเมืองคนก่อน พระท่าทองภู่ไม่ได้ตั้งเมืองที่มะขามเตี้ยอันเป็นเมืองเดิม เพราะหาสถานที่ประกอบอาชีพใกล้ๆ ไม่ได้ เนื่องจากผู้ที่มาอยู่ก่อนได้จับจองไว้หมดแล้ว อีกประการหนึ่งตัวเมืองท่าทองอยู่ห่างจากฝั่งแม่น้ำหลวงขึ้นไป มีชุมชนที่บ้านดอนทีตั้งอยู่ปากน้ำอันเป็นทางเข้าสู่ตัวเมือง เป็นชุมชนที่พระยานครน้อย มาตั้งกองต่อเรือเมื่อครั้งก่อนแต่ตอนนี้เลิกกิจการไปแล้ว แต่ยังเป็นชุมชนใหญ่บรรดาเรือที่ค้าขายกับเมืองท่าทองมีทั้งเรือไทยและเรือต่างประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ มะละกาเป็นต้น ก็มาจอดค้าขายที่บ้านดอนมากกว่าเพราะอยู่ติดแม่น้ำ เข้าจอดเรือได้ง่ายกว่าไปจอดที่เมืองท่าทองผลประโยชน์จึงตกเป็นของชุมชนบ้านดอนเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เมืองท่าทองขาดรายได้ที่จะมาทะนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าได้ สถานที่ที่เหมาะแก่การตั้งเมืองคือบ้านดอน แต่พระท่าทองภู่ไม่อาจไปตั้งเมืองได้สันนิษฐานว่า เมื่อพระยานครน้อยมาตั้งอู่ต่อเรือที่บ้านดอนเป็นเวลา 7 ปี ก็ทำการปกครองบ้านดอนเหมือนหัวเมืองหนึ่งของเมืองนครศรีธรรมราช และเมื่อเลิกราไปแล้วก็ยังมีนายที่ปกครองดูแลต่อไปจึงไม่อาจเข้าไปตั้งเมืองได้โดยพลการจึงจำเป็นต้องไปหาสถานที่ในปกครองของเมืองท่าทองเป็นที่ตั้ง จึงเลือกได้บริเวณฝั่งซ้ายของคลองท่าทองใหม่เวลานั้นเรียกว่าคลองท่าเพชร ปัจจุบันคือบ้านท่าทองใหม่ฝ่ายอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานีนั่นเอง สถานที่ดังกล่าวคือบริเวณแหลมวังซึ่งอดีตเคยเป็นชุมชนใหญ่ เคยเป็นสถานที่ต่อเรือเดินทะเลและเอาสินแร่มาถลุงเอาเหล็กทำลูกปืนใหญ่ ในสมัยพระยายมราช(สังข์)เจ้าเมืองนครราชสีมา ซึ่งไม่ยอมอ่อนน้อมต่อพระเทพราชา ทหารกรุงเข้าล้อมเมืองแต่ได้พาครอบครัวและบริวารฝ่าวงล้อมออกมาได้ และเดินทางมาหาพระยารามเดโชเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชจึงขบคิดกันเตรียมกำลังไปกำจัดพระเทพราชา แต่ความล่วงรู้ถึงพระเทพราชาจึงส่งกองทัพเรือมาปราบปราม และฆ่าพระยายมราชได้สำเร็จ บริเวณแหลมวังนี้อยู่ฝั่งซ้ายของคลองท่าเพชร ฝ่ายตรงกันข้ามกับบ้านท่าไทรและเยื้องบ้านดอนหมุ่ย ซึ่งเป็นชุมชนที่มีข้าวปลาอาหารสมบูรณ์อยู่แล้วและอยู่ในเส้นทางคมนาคมระหว่างด่านท่าข้ามกับตัวเมืองท่าทองเดิม พระท่าทองภู่จึงมาตั้งบ้านเรือนที่แหลมวัง และดำเนินการต่อเรือเป็นสำคัญทำให้กลายเป็นชุมชนใหม่ มีเรือเข้ามาค้าขายมากเพราะคลองท่าเพชรกว้างและลึกเช่นเดียวกับแม่น้ำหลวง พระท่าทองจึงตั้งเมืองที่บริเวณนี้ และเรียกชื่อว่าบ้านท่าทองตามชื่อเมืองเดิม และเรียกคลองท่าเพชรว่าคลองท่าทองด้วย ทำให้เกิดคลองท่าทองและบ้านท่าทอง 2 แห่ง จึงเรียกเสียใหม่ให้เข้าใจง่ายคือท่าทองแห่งแรกที่บ้านท้อนเรียกว่าท่าทองออก ส่วนท่าทองแห่งที่2 อยู่ทางทิศตะวันตกจึงเรียกท่าทองตก ต่อมาเห็นว่าท่าทองตกแปลไปในทางที่ไม่ดี จึงให้เรียกท่าทองใหม่เพราะเป็นท่าทองที่ตั้งมาใหม่ จึงเรียกท่าทองใหม่และสร้างวัดท่าทองใหม่เป็นวัดประจำเมือง พระท่าทองภู่ตั้งบ้านเรือนที่ท่าทองใหม่ และไปหาที่ทำนาที่บ้านเขาน้อยใกล้ห้วยแก้วปัจจุบัน อยู่ในท้องที่ตำบลทุ่งกง สร้างบ้านไว้เป็นที่พักผ่อนและดูแลการทำนาโดยเดินทางมาตามคลองแดะแจะไปออกทะเล

พระท่าทองภู่เป็นเจ้าเมืองท่าทองใหม่จนในรัชกาลที่ 4 ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระกาญจนดิฐบดี ผู้ว่าราชการเมืองกาญจนดิฐที่บ้านดอน ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เลื่อนเป็นพระยากาญจนดิฐบดี เมื่อถึงแก่กรรม พระกาญจนดิฐบดี (จำเริญ)เป็นบุตรของพระท่าทองภู่เป็นผู้ว่าราชการเมืองคนต่อมา และยังคงใช้เขาน้อยเป็นที่พักผ่อนโดยเดินทางจากบ้านดอนมาเขาน้อยทางคลองแดะแจะ ปัจจุบันคลองตื้นเขินใช้สัญจรไม่ได้ และได้จัดหาแหล่งน้ำจืดที่บ้านบ่อโหลกให้เป็นบ่อน้ำสาธารณะมีน้ำจืดสนิท สะอาดและมีน้ำตลอดปี เมืองท่าทองตั้งอยู่ที่บ้านท่าทองใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. 2399 ถึง พ.ศ. 2410 เมื่อพระยานครน้อยกลางเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชถึงแก่กรรม สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเห็นว่าเมืองนครอ่��นแอลง จึงโปรดให้ยกเมืองท่าทองเป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงกับกรุงเทพฯ และโปรดให้พระท่าทองภู่ไปตั้งบ้านว่าราชการเมืองที่บ้านดอนตั้งแต่นั้นมา

พระท่าทองภู่ย้ายเมืองท่าทองจากบ้านท่าทองใหม่ไปตั้งที่บ้านดอนเมื่อ พ.ศ. 2410 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เปลี่ยนชื่อเมืองท่าทองเป็นเมืองกาญจนดิฐ และพระราชทานสัญญาบัตรให้แก่พระท่าทองพุ่มเป็นพระกาญจนดิฐบดี เป็นผู้ว่าราชการเมืองกาญจนดิฐให้ปลัดเสมปลัดเมืองเป็นหลวงศรีสุพรรณดิษฐ์ปลัดเมืองกาญจนดิฐ ภายหลังได้เป็นพระศรีสุพรรณดิฐ พระกาญจนดิฐ (พุ่ม) ตั้งจวนว่าราชการบริเวณเหนือน้ำของชุมชนบ้านดอนบริเวณที่ตั้งจวนผู้ว่าราชการจังหวัด และสร้างวัดพระโยกเป็นวัดถือน้ำ เมืองกาญจนดิฐมีอาณาเขตปกครองกว้างขึ้นกว่าเมืองท่าทองเดิมรวม 10 แขวงคือ แขวงกระแดะ (เดิมคือหัวเมืองกำแพงกระแดะ) แขวงช้างขวา (หัวเมืองหัวหมากลำงาย) แขวงสวาสดิจงสระ (หัวเมืองอุหวากจงสระคือตำบลป่าร่อนและตำบลคลองสระ) แขวงพุมดวง (หัวเมืองพุมดวงและบางเดื่อ) แขวงท่าทอง แขวงท่าทองอุแท แขวงพลายวาส แขวงญวนตะเหอะ แขวงท่าชี และแขวงตะบาน ตัวเมืองกาญจนดิฐตั้งอยู่ในทำเลที่ดี มีเรือสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ และมะละกา เข้ามาค้าขายปีหนึ่งๆ มีประมาณ 100 ลำ เพราะเหนือตัวเมืองขึ้นไปมีหัวเมืองลำพูน เมืองเวียงสระ เมืองพระแสง เมืองฉวาง เมืองคีรีรัฐและเมืองพนม ทำให้บ้านเมืองเจริญมากขึ้น

ครั้น พ.ศ. 2418 เจ้าพนักงานเมืองกาญจนดิฐ คือหมื่นคเชนทร์(เกลา)หมอช้างกับหมื่นรักษ์โยธา นายคอกและควาญ เป็นหัวหน้าตั้งคอกจับช้างที่แขวงสวาสดิ์จงสระได้ช้างพลายมีลักษณะเป็นช้างเผือกโท สกุลปทุม วงค์อัคนี พระเพลิงสร้างเป็นช้างชาตินักรบ พระกาญจนดิฐจึงให้หมอกับควาญทำการเลี้ยงดูและฝึกจนเชื่องดีแล้ว จึงนำไปถวายพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 โดยสารทางเรือถึงกรุงเทพฯเข้าเทียบเรือที่ศาลต่างประเทศ (ท่าเตียน) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2419 และทำการสมโภชทุกวันจนถึงวันที่ 2 กันยายน2419 จึงโปรดให้ขึ้นระวางเป็นช้างเผือกพระราชทานนามว่า พระเศวตสุนทรสวัสดิ์ คชินทรรัตนสมบูรณ์ ศักดิ์ตระกูลประทุมหัสดี เนตรนัขฉวีโลมวิมล สารโสภณสกนธพิเศษ ทุติเสวตวรรณโณภาส อัคนิเทวราชรังสรรค์ ชาติประจันกาญจนดิฐ อเนกบุญฤทธิสมาคม เฉลิมบรมราชบารมี จอมธเรศตรีเบ็ญจมรัช พิศาลสวัสดิ์ประเสริฐเลิศฟ้า พร้อมพระราชทานสัญญบัตรเลื่อนยศพระกาญจนดิฐบดี(พุ่ม) เป็นพระยากาญจนดิฐบดี ถือศักดินา 2000 หมื่นคเชนทร์(เกลา)หมอช้างผู้จับช้างเป็นขุนยุพรัตนกริน ศักดินา 400 หมื่นรักษ์โยธา (ฤกษ์) ควาญผู้ช่วยจับเป็นหมื่นคชินทราลักษณ์ ศักดินา 300

บ้านเมืองสมัยพระยากาญจนดิฐบดีที่บ้านดอน มีร้านค้าประมาณ 600 หลัง ราษฎรมีทั้งคนจีน คนแขก และคนไทย ราษฎรไทยส่วนใหญ่ทำนาทำไร่และสวนผลไม้ ทำไม้กระดาน ทำเรือมาด และหาของป่า เดินเรือค้า ตั้งร้านค้าขาย ทำเหมืองแร่และรับผูกขาดภาษีอากร ตลาดการค้าตั้งอยู่ 2 ฝากถนน มีร้านโรงหนาแน่นจากวัดสามหม้ายถึงวัดพระโยก มีโกดังเก็บสินค้าและอาคารสำคัญๆหลายแห่ง สินค้าในตลาดมีผ้าจากเมืองจีน สิงคโปร์และไชยาบ้าง ไว้ขายคนจรส่วนคนในเมืองกาญจนดิฐจะทอผ้าใช้เอง สินค้าอื่นๆ ก็มีปกติตลอดจนผักปลาซึ่งมีโป๊ะจับปลาที่หน้าอ่าว สินค้าป่ามีไต้ หวาย น้ำมันยาง ไม้กระดาน เรือมาด ส่วนใหญ่เตรียมออกขายเมืองจีนและสิงคโปร์ สินค้าส่งออกเป็นข้าวมากกว่าสิ่งอื่นราคาเกวียนละ 24 บาทเรือมาดยาว 7 ศอกถึง 4 วา ลำละ 2 บาท ถึง 16 บาท ส่งออกปีละ 2400 ลำ เงินตราที่ใช้ในเมืองกาญจนดิฐเป็นเหรียญแมกชิกัน เงินรูปี หรือยำไป มีแร่ดีบุกขึ้นทำใช้เอง เป็นเบี้ยโลหะแบนขอบกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว 3 กระเบียด มีอักษรไทยจากรูกลางไปยังขอบเป็น4แฉกอ่านว่ากาญจนดิฐ ค่าของดีบุก 10 อันเป็น 1 ก้อน 3 ก้อนเป็น 1 รูปี หรือยำไป 16 ก้อนครึ่ง เป็น 1 เหรียญแมกชิกัน

พระยากาญจนดิฐ (พุ่ม) เป็นเจ้าเมืองท่าทองตั้งแต่ พ.ศ. 2399 ถึง พ.ศ. 2431 ก็ถึงแก่กรรมในราชการ หลวงพิพิธสุพรรณภูมิ (จำเริญ) ซึ่งเป็นบุตรได้เป็นผู้รั้งเมืองกาญจนดิฐต่อมา โดยมีพระศรีสุพรรณดิฐ(เสม) ทำหน้าที่เป็นปลัดเมืองต่อไป

ในพ.ศ. 2432 สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสหัวเมืองแหลมมลายู และมีกำหนดเสด็จเมืองกาญจนดิฐด้วย ในวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2432 ประทับแรมที่ไชยา เวลานั้นผู้ว่าราชการเมืองกาญจนดิฐถึงแก่กรรมยังไม่ได้ตั้งผู้ว่าคนใหม่ หลวงพิพิธสุพรรณภูมิเป็นผู้รั้งเมืองอยู่ ทางราชการเห็นว่าไม่มีตัวผู้ว่าราชการที่จะจัดงานรับเสด็จอันเป็นงานใหญ่ จึงกำหนดให้เสด็จเมืองกาญจนดิฐเป็นระยะเวลาสั้น ในช่วงกลางวันไม่มีการประทับแรม เช้าวันที่ 7 สิงหาคม เสด็จทางเรือมาถึงกาญจนดิฐก่อนเที่ยงเพราะใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง โดยใช้เรือไฟลากจูงออกจากพุมเรียงเช้าถึงกาญจนดิฐก่อนเที่ยง มีเวลาให้พระเจ้าอยู่หัวประทับให้ข้าราชการเข้าเฝ้า แล้วเสด็จทอดพระเนตรบ้านเมืองพอสมควร บ่ายจึงเสด็จกลับไปประทับแรมที่เรืออุบลบูรพาทิศ ซึ่งจอดอยู่หน้าอ่าวไชยา หลวงพิพิธสุพรรณภูมิ พ่อค้า กรมการเมืองและราษฎร มีความยินดีที่พระมหากษัตริย์เสด็จเป็นครั้งแรกที่มาถึงบ้านเมืองของตน ถือเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและเมืองกาญจนดิฐจึงจัดรับเสด็จเหมือนหนึ่งว่ารับเสด็จประทับแรม โดยสร้างพลับพลารับเสด็จอย่างสวยงาม มีท้องพระโรง โต๊ะ เก้าอี้ ห้องบรรทม พระแท่น ห้องสรงตลอดจนของใช้อย่างครบครัน สร้างเรือนรับรองหลังพลับพลาอีก 2 หลัง มีชานกลางติดต่อกัน สร้างโรงหลังยาวไว้หลังเรือนรับรองไว้เลี้ยงอาหาร ข้างพลับพลามีโรงหนังและโรงมโนราห์ข้างละโรง เพื่อแสดงถวาย ครั้นถึงวันที่ 7 สิงหาคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเรือพระที่นั่งกรรเชียงแต่เช้าตรู่ โดยมีเรือไฟจักรนารายณ์ลากจูงมาได้ราว 40 นาที เรือติดตื้นจึงต้องให้เรือไฟทอนิครอฟ ซึ่งกินน้ำตื้นมาจูงเรือพระที่นั่งต่อจนถึงปากอ่าวบ้านดอน ท้องเรือครือหน้าดินต้องลงไปช่วยพยุงให้เรือเดินไปตามร่องน้ำวกไปวนมาเสียเวลามากมาย จนใกล้เที่ยงจึงถึงปากน้ำได้ เรือไฟเข้าจูงต่อแต่น้ำในแม่น้ำไหลเชี่ยวมากและเรือวิ่งทวนน้ำจนเวลาบ่าย 2 โมง เรือจึงถึงตัวเมืองกาญจนดิฐ พอมาถึงพลับพลาท้องฟ้ามืดมัวไปหมด มีพายุฝนอย่างรุนแรง จะเสด็จทอดพระเนตรบ้านเมืองก็คงไม่เห็นอะไรเท่าที่ควร ทรงอุส่าห์ทนลำบากมาจนถึงได้แล้ว ถ้าเสด็จกลับโดยไม่ได้ทอดพระเนตรความเป็นไปของบ้านเมืองบ้างก็เท่ากับทรงเหนื่อยเปล่า และทรงสงสารคนกรรเชียงเรือที่ต้องทำงานหนักทั้งวัน ครั้นเสด็จขึ้นพลับพลาใหญ่และหมู่เรือนที่จัดไว้รับเสด็จ ก็ทรงยินดีและได้ประทับแรมที่เมืองกาญจนดิฐเหมือนดังที่ชาวกาญจนดิฐคาดคิดและเตรียมไว้ ทั้งที่พักและอาหารได้เตรียมการไว้หมดสิ้น แต่ปัญหาของผู้ตามเสด็จไม่มีผ้าเปลี่ยนเนื่องจากคิดว่าไม่พักแรมและเสื้อผ้าถูกฝนเปียกก่อนเข้าที่พักจึงต้องไปจัดหาซื้อผ้าในตลาด ซึ่งไม่ค่อยมีขายคุณหญิงมารดาผู้รั้งเมืองจึงเอาผ้าที่นำมาจะทำของถวายมาถวายให้เป็นการแก้ปัญหาไปได้ แต่พระกระยาหารเสวยพระเจ้าอยู่หัวทรงจัดเครื่องเสวยเป็นการส่วนพระองค์ โดยทรงให้ซื้อเตา หม้อ ถ้วย ชามและของสดมาปรุงเสวยเป็นพระสำราญไปอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวอย่างให้ทรงจัดเครื่องเสวยในเวลาเสด็จประพาสต้นต่อมา วันที่ 8 สิงหาคมเวลาเช้าโปรดให้หลวงพิพิธสุพรรณภูมิ เบิกตัวพ่อค้าเข้าถวายสิ่งของและพระราชทานเงิน 10 ชั่ง ให้แจกจ่ายแก่ผู้มาทำงานในการรับเสด็จ แล้วเสด็จดำเนินเยี่ยมราษฎรย่านการค้าและวัดกลาง พระครูสุวรรณรังษีเจ้าคณะเมืองกาญจนดิฐ นำพระภิกษุสงฆ์ส่งเสด็จที่หน้าวัดกลาง ถวายปัจจัยพระภิกษุแล้วเสด็จลงเรือพระที่นั่งข้างวัดกลาง เรือออกจากท่า เรือไฟจูงเรือพระที่นั่งออกไปปากน้ำ ติดตื้นพนักงานต้องกรรเชียงเรือถึงเกาะปราบ เวลาบ่าย 2 โมง พายุฝนลงหนัก ต้องเสด็จขึ้นเรือกลางฝน เวลาบ่าย 3 โมงเสด็จถึงเรืออุบลบูรพทิศ บ่าย 5 โมงเดินทางไปเมืองหลังสวน

ในการเสด็จเมืองกาญจนดิฐครั้งนี้ ได้ทรงพระราชนืพนธ์เรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับเมืองกาญจนดิฐไว้หลายอย่าง ขออัญเชิญมาเขียนบางตอนดังนี้ ลำน้ำเมืองกาญจนดิฐเป็นแม่น้ำกว้างใหญ่น้ำจืดสนิทเหมือนแม่น้ำในกรุงเทพฯ ปลายน้ำขึ้นไปแยกขวาเรียกแม่น้ำพุมดวงแล้วขึ้นไปแยกอีกสองแยกแยกล่างเป็นคลองยันแยกบนเป็นคลองพระแสง ปลายคลองพุมดวงพ้นคลองพระแสงขึ้นไปเป็นคลองพนม น้ำตกมาแต่เมืองตะกั่วป่า แม่น้ำบ้านดอนแยกซ้ายเรียกแม่น้ำหลวง ขึ้นไปแยกเป็นคลองลำพูนคลองหนึ่ง ปลายขึ้นไปถึงเขาในเขตเมืองนครศรีธรรมราช สินค้าอันใดถ้าจะมีในสองแม่น้ำนี้จะต้องลงแม่น้ำบ้านดอนทั้งสิ้น แต่คนมีน้อยจึงไม่เป็นเมืองที่เจริญสมกับภูมิที่จำนวนคนที่ทำสำมะโนครัว พลเมืองไทย 8,000 คนเศษ เป็นจีน 300 แขกมีเล็กน้อยคนมาหนาแน่นอยู่ที่บ้านดอน เหนือขึ้นไปอยู่เรียงราย แต่เรือค้าขายมีมาก จีนพ่อค้าในเมืองมีทุนรอนหลายคน แต่งเรือไปมาค้าขาย เป็นเรือเมืองกาญจนดิฐเองบ้าง เรือไหหลำ เรือสิงคโปร์มาค้าบ้าง เมื่อเข้าไปเห็นเรือสำเภาและเรือเอี้ยมจุ๊นลำใหญ่จอดอยู่ถึง 8 ลำ ท่วงทีจะเป็นเมืองท่าค้าขายได้ดีกว่าเมืองไชยามาก เรือที่มาค้าขายเมืองกาญจนดิฐ จะแวะรับมะพร้าวที่เกาะสมุยด้วย ปลาทะเลที่ปากอ่าวเห็นมีโป๊ะหลายโป๊ะ ว่าพวกกองตระเวนเพชรบุรีมาตั้งทำปลา ปลาน้ำจืดก็มีปลาเป็นฤดู ผลไม้มีมาก ลางสาดเป็นอย่างดี แต่เวลามานี้เผอิญถูกคราวไม่มีผลไม้

หลวงพิพิธสุพรรณภูมิ ผู้ช่วยเมืองกาญจนดิฐได้เป็นผู้จัดการรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้อย่างเรียบร้อย ทรงไต่ถามเรื่องงานในหน้าที่ หลวงพิพิธสุพรรณภูมิก็กราบบังคมทูลจนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า มีความรู้ความสามารถเหมาะสมให้เป็นผู้ว่าราชการได้ ครั้นประทับแรมที่เมืองหลังสวนก็พระราชทานสัญญาบัตรให้เป็นพระกาญจนดิฐบดี ผู้ว่าราชการเมืองกาญจนดิฐเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2432 ต่อมามีผู้กล่าวโทษว่ากระทำผิด ต้องพ้นจากราชการ พระยาวิชิตภักดี (ขำ) ผู้ว่าราชการเมืองไชยาเป็นผู้รั้งตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองกาญจนดิฐอีกตำแหน่งหนึ่งและโปรดให้ยุบหัวเมืองกำแพงกระแดะเป็นแขวงกระแดะ ขึ้นกับเมืองท่าทองนายที่ผู้ดำรงตำแหน่งคนสุดท้ายคือ ขุนไชยภักดี (เปรม) กระแดะเป็นแขวงหนึ่งของเมืองท่าทองมาตามลำดับ พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้ทรงปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นโดยรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ยกเลิกระบบกินเมืองอันเป็นระบบที่เจ้าเมืองมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารจัดการบ้านเมืองของตน และให้มีข้าหลวงเทศาภิบาลทำหน้าที่กำกับดูแลหัวเมืองต่างๆ แทนรัฐบาลกลาง เรียกว่าระบบเทศาภิบาล ได้มีการจัดส่วนราชการตามแบบใหม่มีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบตามลำดับสายบังคับบัญชาคือ หมู่บ้านมีผู้ใหญ่บ้านปกครอง ตำบลมีกำนันเป็นผู้ปกครอง อำเภอมีนายอำเภอเป็นผู้ปกครอง และให้วัดเป็นผู้จัดการศึกษาให้กับราษฎรโดยใช้หนังสือแบบเรียนเร็วเป็นตำราเรียน แขวงกระแดะจึงเปลี่ยนเป็นตำบลกระแดะ รวมตำบลกระแดะและตำบลอื่นๆ เป็นอำเภอตั้งที่ว่าการอำเภอที่ตำบลกระแดะเรียกอำเภอกระแดะ มีขุนสิทธิ์ (เล้ง) เป็นนายอำเภอคนแรก

ต่อมาปี พ.ศ. 2440 ได้มีการตราพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่โปรดให้จัดการปกครองเป็นระบบเทศาภิบาลมณฑล ภาคใต้มี 3 มณฑลคือ มณฑลภูเก็ต มณฑลชุมพร และมณฑลนครศรีธรรมราช เมืองกาญจนดิฐ เมืองไชยา เมืองหลังสวน และเมืองชุมพรรวมเป็นมณฑลเดียวกันเรียกว่ามณฑลชุมพรตั้งศาลาว่าการที่เมืองชุมพร พระยาดำรงสุจริตมหิศวรภักดี(คอซิมก๊อง)เป็นเทศาภิบาลมณฑล พระยาวิชิตภักดี (ขำ) เป็นผู้ว่าราชการเมืองกาญจนดิฐ

ในปีพ.ศ. 2440 นี้ เมืองกาญจนดิฐแบ่งการปกครองออกเป็น 4 อำเภอ คือ 1. อำเภอเมือง ปกครองท้องที่ตัวเมืองบ้านดอน และท้องที่ที่อยู่ในแขวงท่าชีทั้งหมดตั้งที่ว่าการอำเภอที่บ้านดอน 2. อำเภอกระแดะ ปกครองท้องที่ในแขวงกระแดะ แขวงท่าทอง แขวงท่าทองอุแท แขวงสวาสดิ์จงสระ แขวงพลายวาส แขวงช้างขวา แขวงญวนตะเหอะ ตั้งที่ว่าการอำเภอที่บ้านกระแดะ 3. อำเภอพุนพิน ปกครองท้องที่ที่เคยอยู่ในแขวงตะบานทั้งหมด ตั้งที่ว่าการอำเภอที่บ้านพุนพิน 4. อำเภอพุมดวง ปกครองท้องที่ซึ่งเคยอยู่ในแขวงพุมดวงทั้งหมด ตั้งที่ว่าการอำเภอที่บ้านท่าโรงช้าง

ถึง พ.ศ. 2442 โปรดให้รวมเมืองกาญจนดิฐและเมืองไชยาเป็นเมืองเดียวกันให้เรียกว่าเมืองไชยา (คือยุบเมืองกาญจนดิฐเป็นอำเภอขึ้นกับเมืองไชยา) ตั้งศาลาว่าการเมืองที่พุมเรียง มีหลวงวิเศษภักดี (อวบ) เป็นผู้ว่าราชการเมือง ขุนวิเศษรักษา ปลัดเมืองไชยาเดิม เป็นปลัดเมืองไชยา ส่วนพระศรีสุพรรณดิษฐ์ปลัดเมืองกาญจนดิฐที่ถูกยุบก็ทำหน้าที่เป็นปลัดเมืองอยู่ที่บ้านดอน

เมื่อเมืองกาญจนดิฐที่บ้านดอนยุบรวมกับเมืองไชยาตั้งศาลาว่าการที่พุมเรียง บ้านดอนก็ลดฐานะลงเป็นอำเภอ การปกครองและการค้าที่บ้านดอนก็ตกต่ำลง พวกพ่อค้าที่บ้านดอนจึงรวมกับราษฎรที่บ้านดอน ทำหนังสือร้องเรียนต่อทางบ้านเมืองด้วยเหตุผลว่าการยุบเมืองกาญจนดิฐซึ่งกำลังเจริญอยู่นั้นเป็นการหยุดความเจริญของบ้านเมือง เพราะภูมิประเทศของเมืองไชยาไม่อำนวยเหมือนสมัยก่อน กำลังซื้อขายมีน้อย เรือสินค้าใหญ่ๆ เข้ามาค้าขายที่บ้านดอนมากกว่าที่ไชยา จึงขอย้ายเมืองมาตั้งที่บ้านดอนเพื่อฟื้นฟูให้เจริญทันสมัยต่อไป ซึ่งทางราชการก็เห็นด้วย

ครั้น พ.ศ. 2443 จึงย้ายเมืองจากพุมเรียงมาตั้งที่บ้านดอนให้เรียกว่าเมืองกาญจนดิฐอีกครั้งหนึ่ง และได้แต่งตั้งให้หลวงวิเศษภักดี (อวบ) เป็นผู้ว่าราชการเมืองกาญจนดิฐที่บ้านดอน มีบรรดาศักดิ์ว่า พระกาญจนดิฐบดี ถือศักดินา 3000 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2443 โดยมีพระศรีสุพรรณดิฐ (เสม) เป็นปลัดเมืองกาญจนดิฐ ต่อไป

เมืองกาญจนดิฐ สมัยพระกาญจนดิฐบดี (อวบ) เป���นผู้ว่าราชการนั้นมี 7 อำเภอคือ อำเภอเมือง อำเภอพุมเรียง อำเภอพระแสง อำเภอคีรีรัฐ อำเภอกระแดะ อำเภอพุนพิน และอำเภอพุมดวง

ถึง พ.ศ. 2445 สมเด็จพระยานริศรานุวัติวงศ์ เสด็จตรวจราชการงานวางสายโทรศัพท์ภาคใต้ซึ่งพระกาญจนดิฐบดี(อวบ)ผู้ว่าราชการเมืองกาญจนดิฐได้นำเสด็จตรวจในท้องที่เมืองกาญจนดิฐ คืออำเภอเมือง อำเภอพุนพิน อำเภอพุมดวง อำเภอกระแดะ อำเภอพุมเรียง อำเภอพะสง สมัยนั้น นายเชื่อมเป็นนายอำเภอกระแดะ

พ.ศ. 2446 เมืองกาญจนดิฐ ที่บ้านดอนได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองไชยาจึงเอากาญจนดิฐมาแทนชื่ออำเภอกระแดะและในปี 2449 ย้ายศาลาว่าการมณฑลชุมพรมาตั้งที่เมืองไชยา (ที่บ้านดอน)

พ.ศ. 2458 ในรัชกาลที่ 6 ได้เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ตั้งแต่วันที่ 27-30 กรกฎาคม 2458ได้ประทับแรมที่ตำหนัก ณ ควนท่าข้ามหรือพระตำหนักสราญรมย์ โปรดให้ เปลี่ยนเมืองไชยาที่บ้านดอน เป็นเมืองสุราษฏร์ธานีเพราะเห็นว่าไม่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์เนื่องจากที่เมืองไชยาเก่ามีพระธาตุไชยาเป็นหลักฐานอยู่แล้ว ราษฎรก็ไม่เรียกเมืองไชยาใหม่ที่บ้านดอนว่าเมืองไชยา คงเรียกที่ไชยาเก่าว่าเมืองไชยาตามเดิม ทำให้สับสนจึงทรงเห็นว่าควรเปลี่ยนนามเมืองนี้เสียใหม่ เพื่อให้สะดวกแก่ประชาชนและทอดพระเนตรเห็นผู้คนมีกิริยาวาจาเรียบร้อย จึงพระราชทานเมืองคนดีว่า สุราษฎร์ธานี และในวันเดียวกัน โปรดให้เปลี่ยนมณฑลชุมพรเป็นมณฑลสุราษฎร์ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจัดระเบียบการปกครองท้องที่ใหม่เป็นอำเภอ จังหวัด อำเภอพุมเรียง เปลี่ยนเป็นอำเภอไชยาและเปลี่ยนอำเภอกระแดะเป็นอำเภอกาญจนดิษฐ์ และย้ายกลับมาอยู่บริเวณบ้านกระแดะมาจนถึงปัจจุบันนี้

อาณาเขต

เมืองท่าทองตามทำเนียบสมัยอยุธยา มีอาณาเขตดังนี้

  • ทิศตะวันออก จดหัวเมืองไชยคราม
  • ทิศใต้ จดหัวเมืองอุหวากจงสระ (ตำบลป่าร่อน) และเมืองไชยา
  • ทิศเหนือ จดทะเล

พื้นที่ภายในอาณาเขตดังกล่าว ได้แก่ หัวเมืองกำแพงกะแดะ หัวเมืองหัวหมากลำงาย (ตำบลช้างขวาช้างซ้าย) แขวงพลายวาส(ตำบลพลายวาส) หัวเมืองท่าทอง (ตำบลท่าทอง) แขวงท่าทองอุแท (ตำบลท่าอุแทและตำบลชลคราม) กับด่านปากน้ำท่าทอง แขวงญวนตะเหอะ (คลองตะเหอะหรือตำบลตะเคียนทองไปจนถึงคลองพุมดวง) แขวงตะบาน (คงเป็นบริเวณตำบลมะขามเตี้ย ตำบลขุนทะเล) แขวงท่าชี และ ด่านท่าข้าม

อ้างอิง

  • จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ พ.ศ. 2431
  • พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 3 เจ้าพระยาทิภากรวงศ์
  • พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 4 เจ้าพระยาทิภากรวงศ์
  • สารตราตั้ง พระเสน่หามนตรี(น้อยกลาง) ประชุมพงศาวดารภาค 73
  • สามเจ้าพระยา ณํฐวุฒิ สุทธิสงคราม
  • บัญชีเครือญาติ ตระกูล ณ นคร ประชุมพงศาวดารภาค 73
  • จดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา
  • รายงานระยะทางเสด็จตรวจราชการปักษ์ใต้ สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์
  • ทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราชประชุมพงศาวดารภาค 73
  • สาส์นสมเด็จเล่ม 5
  • ประวัติตระกูลพระวิสูตรสงครามรามภักดี ของขุนประกิตกาญจนเขตร
  • จดหมายเหตุ สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเสด็จประพาสหัวเมืองแหลมมลายู ร.ศ. 107และ108
  • จดหมายเหตุ สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเสด็จประพาสหัวเมืองแหลมมลายู พ.ศ. 2432 (ฉบับพระราชนิพนธ์)
  • จดหมายเหตุพระราชกิจจารายวัน ในสมเด็จพระจุลจอมเกล้า พ.ศ. 2431
  • จดหมายเหตุพระราชกิจจารายวัน ในสมเด็จพระจุลจอมเกล้า พ.ศ. 2433
  • จดหมายเหตุ สมเด็จพระมงกุฎเกล้า เสด็จประพาสมณฑลปักษ์ใต้ พ.ศ. 2460
  • จดหมายเหตุ สมเด็จพระมงกุฎเกล้า เสด็จประพาสมณฑลปักษ์ใต้ พ.ศ. 2463
  • ชีวิวัฒน์ พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาภานุพันธ์ ฯ พ.ศ. 2427
  • รายงานตรวจราชการในปักษ์ใต้ พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ พ.ศ. 2445
  • ราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. 2439
  • ราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. 2440
  • ราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. 2441
  • ราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. 2443
  • ราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. 2447
  • ราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. 2448
  • จดหมายเหตุต่างๆในรัชกาลที่ 5
  • ตำนานจังหวัดสุราษฎร์ธานี เรียบเรียงโดย สมเด็จพุฒาจารย์ อุปเสณมหาเถระ
  • พระราชพงศาวดารเมืองพัทลุง ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 15
  • พระราชพงศาวดารเมืองสงขลา ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 3
  • วิชาการพิศิษฐ์ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระยาอรรถกวีสุนทร
  • ตำนานเก่าเมืองไชยา อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระครูสุรวุฒิวิศิษฐ์
  • กาญจนดิษฐ์สัมพันธ์ ครั้งที่ 14 ชมรมชาวกาญจนดิษฐ์
  • กาญจนดิษฐ์สัมพันธ์ ครั้งที่ 15 ชมรมชาวกาญจนดิษฐ์
  • กาญจนดิษฐ์สัมพันธ์ ครั้งที่ 16 ชมรมชาวกาญจนดิษฐ์
  • กาญจนดิษฐ์สัมพันธ์ ครั้งที่ 17 ชมรมชาวกาญจนดิษฐ์
  • กาญจนดิษฐ์สัมพันธ์ ครั้งที่ 18 ชมรมชาวกาญจนดิษฐ์
  • กาญจนดิษฐ์สัมพันธ์ ครั้งที่ 30 ชมรมชาวกาญจนดิษฐ์
  • สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. 2527 เล่ม 1 สถาบันทักษิณคดีศึกษา
  • สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. 2529 เล่ม 9 สถาบันทักษิณคดีศึกษา
  • แนวสังเขปของโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน โดยพุทธทาสภิกขุ
  • แหล่งศิลปกรรมสำคัญในจังหวัดสุราษฎร์ธานี หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • ช้างเผือก เมืองกาญจนดิษฐ์ สำรวมวิชัยดิษฐ์
  • 90 ปี สุราษฎร์ธานี นามพระราชทาน
  • 95 ปี สุราษฎร์ธานี นามพระราชทาน
  • สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่ม 7 สถาบันทักษิณคดีศึกษา

แหล่งที่มาดั้งเดิม: ${vars.title} แบ่งปันกับ ใบอนุญาต Creative Commons Attribution-ShareAlike 3.0

หมวดหมู่