อุปธิ คืออะไร

อุปธิ หมายถึง กิเลสและกรรม จัดเป็นกิเลสชนิดหยาบที่สุดในกิเลส ๓ ระดับ คือ

  • อนุสัยกิเลส (Latent Defilements) กิเลสอย่างละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน
  • ปริยุฏฐานกิเลส (Internally Active Defilements) กิเลสอย่างกลางที่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งทางความคิด (แต่ยังเก็บไว้ในใจ) กิเลสอย่างกลางนี้คือ กิเลสประเภทนิวรณ์ (hindrances)
  • วีติกกมกิเลส (Externally Active Defilements) กิเลสอย่างหยาบคือกิเลสที่ทำให้สัตว์สร้างกรรมขึ้นมาทางกายและวาจา ซึ่งได้แก่ อุปธิ ทั้งสี่ คือ
  1. กามคุณูปธิ กิเลสเป็นเหตุสร้างกรรมจากความหวงแหนในกามคุณ
  2. อภิสังขารูปธิ กิเลสเป็นเหตุสร้างกรรมจากปรุงแต่งทางความคิด
  3. ตัณหูปธิ กิเลสเป็นเหตุสร้างกรรมจากความทะยานอยาก หรือจากกิเลส
  4. ขันธูปธิ กิเลสเป็นเหตุสร้างกรรมจากยึดมั่นถือมั่นในขันธ์

กามคุณูปธิ เป็นกิเลสที่มีแม้แต่ในสัตว์เดรัจฉานเช่นเมื่อสัตว์เดรัจฉานติดใจในรสชาติแห่งอาหารก็อยากกินอีก ทำให้รู้จักแสวงหา กักตุน หวงแหน แย่งชิง

อภิสังขารูปธิ เป็นกิเลสที่มีในสัตว์ที่มีภูมิปัญญา เช่นมนุษย์และเทวดา ไม่มีในสัตว์เดรัจฉานที่ไม่มีภูมิปัญญา อภิสังขาร แปลว่า ปรุงแต่งเฉพาะหมายถึง การจินตนาการสมมุติสิ่งต่าง ๆ ให้ความเชื่อที่ใช้ร่วมกัน เช่น เงิน ประเทศชาติ อุดมการณ์ทางการเมือง เราไม่สามารถตกลงราคากับสัตว์เลี้ยงได้ด้วยเงิน เช่น จ้างให้ไปทำงานด้วยเงิน เราไม่สามารถให้สัตว์พลีชีพหรือทุ่มเทเพื่อสถาบันทางการเมือง เช่น ประเทศชาติ ศาสนา หรืออุดมการณ์ทางการเมืองเช่นประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนได้ หรือแม้แต่ชาติพันธุ์ สีผิวได้เพราะสัตว์เดรัจฉานไม่มีภูมิปัญญา

ตัณหูปธิ เป็นกิเลสที่มีแม้ในสัตว์เดรัจฉาน ได้แก่การแก้ทุกข์ เช่น หิวต้องหาอะไรกิน ง่วงต้องนอน มีความต้องการทางเพศก็ต้องการระบายความใคร่ ต้องการถ่ายอุจจาระปัสสาวะก็หาที่ถ่าย เหนื่อยก็พัก กลัวก็หนี เป็นต้น

ขันธูปธิ เป็นกิเลสที่มีแม้แต่ในสัตว์เดรัจฉาน ได้แก่การยึดมั่นในขันธ์ เช่นสัตว์เดรัจฉานยึดมั่นในฝูง ในจ่าฝูง ในคู่ครอง ในลูก ในถิ่นที่อยู่ จึงทำการปกป้องหวงแหนต่อสู้ข้าศึกที่เข้ามาทำอันตราย เป็นต้น

กามคุณูปธิ ตัณหูปธิ ขันธูปธิ ทั้งอย่างนี้มีทั้งมนุษย์ เทวดา แม้แต่สัตว์เดรัจฉานทั้งปวง

อภิสังขารูปธิ ไม่มีในสัตว์เดรัจฉาน มีแต่ในมนุษย์และเทวดา และสัตว์ที่มีภูมิปัญญาเท่านั้น

อุปธิ 4 เป็นเหตุให้เกิด อุปาทาน 4

กามคุณูปธิ เป็นเหตุให้เกิด กามุปาทาน (เมื่อยินดีในกามก็ยึดติดในกามนั้น)

อภิสังขารูปธิ เป็นเหตุให้เกิด ทิฏฐุปาทาน (เมื่อเกิดความเชื่อก็ยึดติดในความเชื่อนั้น)

ตัณหูปธิ เป็นเหตุให้เกิด สีลัพพัตตุปาทาน (เมื่อแก้ทุกข์แต่ไม่รู้ในทุกข์ จึงแก้ทุกข์ทางศีลธรรมทางจริยธรรมด้วยความงมงายไม่รู้จริง)

ขันธูปธิ เป็นเหตุให้เกิด อัตตวาทุปาทาน (เมื่อยึดติดในขันธ์ของตนเอง ขันธ์ของผู้อื่น จึงเกิดอัตตาว่านี่คือตัวตน ของตนขึ้น)

เนื่องจากเป็นกิเลสประเภททำให้เกิดการกระทำทางกาย วาจา อุปธิจึงมีความหมายอีกอย่างนึง คือ บุคลิกภาพ เช่น อุปธิสมบัติ เป็นผู้มีสมบัติเป็นผู้มีบุคลิกภาพดี อุปธิวิบัติ เป็นผู้มีวิบัติคือเป็นผู้มีบุคลิกภาพ เป็นต้น

อ้างอิง

(คุ่มือการศึกษา พระอภิธัมมัตถสังคหะ รวบรวมโดย อาจารย์ (วิปัสสนา) วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี) หนังสือเรียนนักธรรมชั้นโท วิชาธรรมวิภาค หมวดสาม หัวข้อวิเวก

แหล่งที่มาดั้งเดิม: ${vars.title} แบ่งปันกับ ใบอนุญาต Creative Commons Attribution-ShareAlike 3.0

หมวดหมู่